สถาปนิก’67 จัดยิ่งใหญ่ภายใต้ธีม Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์
พร้อมดึงสถาปนิกระดับโลกด้านออกแบบสถาปัตยกรรม ร่วมแชร์ประสบการณ์บนเวที ASA International Forum 2024
สมาคมสถาปนิกสยามฯ ร่วมกับ ทีทีเอฟ ประกาศความพร้อมจัดงานสถาปนิก’67 อย่างยิ่งใหญ่และครบวงจรที่สุดในอาเซียน ภายใต้ธีม Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์ การสื่อสารด้วยภาษาที่ไร้ขอบเขตของสถาปนิกและนักออกแบบ พร้อมนำเสนอสินค้าบริการ ด้านงานก่อสร้างบนพื้นที่เดียวกันถึง 75,000 ตร.ม. อีกทั้งจัดนิทรรศการและกิจกรรมไฮไลต์ ชูความเป็นสากล โดยดึงกูรูระดับโลกร่วมแชร์ประสบการณ์บนเวที ASA International Forum คาดมีผู้สนใจทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมงานมากกว่า 3 แสนคน ตลอด 6 วันจัดงาน ระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2567 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี
นายชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงความพร้อมของการจัดงานสถาปนิก'67 ซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปีของวงการสถาปนิก นักออกแบบ และผู้สนใจสินค้าบริการ ด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม งานก่อสร้างครบวงจร โดยความร่วมมือกับบริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 30 เมษายน - 5 พฤษภาคม 2567 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด ‘Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์’ มุ่งเน้นสร้างการรับรู้ให้ผู้คนจากทั่วโลก ได้สัมผัสและเข้าใจ งานสถาปัตยกรรมและการออกแบบที่ไร้ขอบเขต เช่นเดียวกับภาษาที่มีหลากหลาย
ภายในงานจะจัดแสดงสินค้าและบริการด้านงานออกแบบ วัสดุก่อสร้าง การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ที่เกี่ยวข้องกับวงการสถาปัตยกรรม รวมไว้ในพื้นที่เดียวกันที่ใหญ่มากถึง 75,000 ตร.ม. ครอบคลุมทั้งสินค้านวัตกรรมความปลอดภัย ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน และความยั่งยืน ตอบรับกับเทรนด์ งานออกแบบสถาปัตยกรรมของปีนี้และอนาคต เรียกว่างานสถาปนิก’67 เป็นงานแสดงสินค้า ที่ครบวงจรและยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
เพื่อให้การจัดงานเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบและครบถ้วน ทางสมาคมฯ ได้จัดกิจกรรมพิเศษ ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ในความตั้งใจร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 90 ปี ของการก่อตั้งสมาคมสถาปนิกสยามฯ ที่อยากให้งานสถาปัตยกรรมมีส่วนร่วมในการสร้าง ความเคลื่อนไหว (Movement) ที่ดีในสังคม ตลอดจนพัฒนาวิชาชีพสถาปนิกไทยให้สามารถยกระดับทัดเทียมนานาชาติผ่านงานจัดแสดงนิทรรศการและจัดกิจกรรมไฮไลต์สำคัญๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดแสดงนิทรรศการภายในพื้นที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ รวมถึงการเปิดเวทีเสวนาให้ความรู้ โดยสถาปนิกทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้ทุกคนได้มาร่วมถอดรหัส วิพากษ์ภาษาสถาปัตยกรรมผ่านภูมิภาคนิยม (Critcal Regionalism in Architecture) จากแนวคิดและผลงานการออกแบบสถาปัตกรรมในระดับสากลของสถาปนิกไทยและต่างชาติ ที่จะทำให้มุมมองต่อสถาปัตยกรรมชัดเจนและกว้างไกลยิ่งขึ้น
โดยปีนี้ทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้เชิญวิทยากรที่มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ อองตวน ชายา (Antoine Chaaya) พาร์ทเนอร์คนสำคัญของ เรนโซ่ เปียโน จาก Renzo Piano Building Workshop (RPBW), หม่าเหยียนซง (Ma Yansong) สถาปนิกจีนชื่อดังจาก MAD Architects, มาริน่า ทาบาสซัม (Marina Tabassum) สถาปนิกบังคลาเทศเจ้าของรางวัล Aga Khan ร่วมด้วยสองสถาปนิกผู้ก่อตั้ง SHAU จากอินโดนีเซีย ดาเลียนา และ ฟลอเรียน (Daliana Suryawinata and Florian Heinzelmann), เอริค เลอรูซ์ (Erik L'Heureux) รองศาสตราจารย์และคณบดีมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) และคุณต้นข้าว ปาณินท์ ศาสตราจารย์ ประจำมหาวิทยาลัยศิลปากรและสถาปนิกไทยผู้ก่อตั้ง Research Studio Panin มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในงานสถาปนิก’67 ผ่านเวที ASA International Forum ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 4 - 5 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องจูปิเตอร์ 11-13 อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำหรับผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมหรือติดต่อลงทะเบียนร่วมงานเสวนา ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ได้ที่ https://www.asaexpo.org/forum2024
“กิจกรรม ASA International Forum 2024 เชื่อว่าเป็นโอกาสอันดีของสถาปนิก นักออกแบบ และกลุ่มนักศึกษาที่กำลังเรียนสถาปัตยกรรม รวมถึงผู้สนใจ ที่จะได้พบกับการรวมตัวของเหล่าสถาปนิกระดับโลก ซึ่งมาร่วมถ่ายทอดความรู้ และแชร์ประสบการณ์ต่างๆ จากแนวคิดและผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมในระดับสากล จึงไม่อยากให้พลาดกัน”
ด้วยความน่าสนใจของงานและกิจกรรมทั้งหมดที่จะเกิดขึ้น จึงอยากเชิญชวนคนในแวดวงสถาปนิก นักออกแบบ ผู้ประกอบการ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจ มาร่วมสัมผัสอัตลักษณ์ของภาษาสถาปัตยกรรม ผ่านการสื่อสารที่ไร้ขอบเขตได้ในงานสถาปนิก'67 ซึ่งรวมความหลากหลายของภูมิหลังและความชำนาญทางวิชาชีพของวิทยากรทั้งหมดที่พร้อมนำเสนอมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและบริบททางกายภาพรวมถึงวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ของพื้นที่ สภาพอากาศและสังคม อันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสมดุลแห่งสถาปัตยกรรมแก่ผู้คนและอนาคตที่กำลังจะมาถึงด้วย
No comments:
Post a Comment