สกสว. จัดถก “เส้นทางสร้างครู ครูสร้างเด็ก สร้างสังคม” - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Tuesday 21 February 2023

สกสว. จัดถก “เส้นทางสร้างครู ครูสร้างเด็ก สร้างสังคม”

สกสว. จัดการสัมมนาวิชาการ Education Journey Forum ครั้งที่ ๖ หัวข้อ “ครูในฐานะนักขับเคลื่อนการเรียนรู้บนความแตกต่างหลากหลาย” พร้อมเปิดพื้นที่ให้เครือข่ายการขับเคลื่อนด้านการศึกษาและการเรียนรู้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ร่วมเสนอแนะและแลกเปลี่ยนความเห็น “เส้นทางสร้างครู ครูสร้างเด็ก สร้างสังคม”

  

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดสัมมนาวิชาการ Education Journey Forum ครั้งที่ ๖ หัวข้อ “ครูในฐานะนักขับเคลื่อนการเรียนรู้บนความแตกต่างหลากหลาย” โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช ผู้ก่อตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และประธานที่ปรึกษาคณะทำงานบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ ววน. (Strategic Agenda Team: SAT)  ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ ศาสตราจารย์ดร.เจตนา นาควัชระ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ อดีตคณบดีคณะอักษรศาสตร์ และอดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และที่ปรึกษาคณะทำงานช่วยเหลือเด็กเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ สกสว. ผู้ทรงคุณวุฒิ และ เครือข่ายการขับเคลื่อนด้านการศึกษาและการเรียนรู้ ร่วมการสัมมนา  

โอกาสนี้  ศาสตราจารย์ดร.เจตนา นาควัชระ บรรยายนำ “ข้อคิดว่าด้วยความเป็นครูแห่งยุคสมัย” ตอนหนึ่งว่า กระแสโลกาภิวัตน์ ได้เข้ามาครอบงำสังคมไทย และ โลก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการศึกษาและเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ โดยการเรียนรู้อย่างไทยในกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งสามารถแบงออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.การเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ จากสังคมประเพณี อาทิ การเรียนรู้เรื่องมนุสัมพันธ์ หรือ การเรียนรู้แบบซึ่งหน้า ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นสำหรับปัจจุบัน สัมพันธภาพแนวนอน เช่น ความสัมพันธ์ของพี่น้อง ความสัมพันธ์ ระหว่างเพื่อนร่วมงาน ชุมชน เพราะในแต่ละชุมชนมมีเรื่องดีดีอยู่ วัฒนธรรมระนาดทุ้ม หรือ วัฒนธรรมที่ไม่ต้องการความโดดเด่น  ความสามารถหลากหลายทาง ต่างกับปัจจุบันที่เน้นความสามารถเฉพาะด้าน  กิจกรรมเชิงปฏิบัติการ ความสามารถในการ “ด้น” จากลิเกไทย หรือ การแสดงแบบไทย และ การผลิตที่ใช้เงินตราเป็นเครื่องอำนวยความสะดวก ที่เปลี่ยนจากเงินเพื่อซื้อขาย มาเป็นตัวกำหนดชีวิต และ 2 การเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ จากโลกาภิวัตน์ อาทิ การเรียนรู้จากสื่อและเทคโนโลยี องค์กรขนาดใหญ่ ที่สั่งการจากบนลงล่าง โลกไร้พรมแดน ประชาสัมพันธ์และโฆษณา (ชวนเชื่อ) ต้องโดดเด่น และ เป็นที่รู้จัก ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน การให้ความสำคัญต่อทฤษฎี การสร้างระบบ และเงินตรากำกับชีวิต  


นอกจาก การเรียนรู้อย่างไทยในกระแสโลกาภิวัตน์ ศาสตราจารย์ดร.เจตนา ได้นำเสนอ 11 ปรากฎการณ์ระดับโลก ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ และประสบการณ์ ประกอบด้วย 1.ความรวดเร็วของชีวิตในปัจจุบัน ทำให้ผู้คนมีเวลาในการคิด การไตร่ตรองน้อยลง 2. เทคโนโลยีเปลี่ยนจากเครื่องมือไปเป็นวิถีชีวิต เช่น การใช่นโยบาย 4.0 3. ความท่วมท้นของข้อมูล ที่ต้องวิจารณญาณ 4. ความล่มสลายของสิ่งแวดล้อม 5.ปัญญามนุษย์ไล่ไม่ทันปัญญาประดิษฐ์? ซึ่งจำเป็นต้องหาหนทาง พัฒนาปัญญามนุษย์ ให้เหนือกว่าปัญญาประดิษฐ์ 6.พยาธิสภาพที่มนุษย์ควบคุมไม่ได้ 7.สงครามในฐานะอัตวิบาตกรรม 8.ความถดถอยของกลไกของรัฐ 9. ความยากจนของคนส่วนใหญ่ 10. ความสับสนและซับซ้อนของกฎหมายและกฎระเบียบ : ความย่อหย่อนนการบังคับใช้ 11. มรณกรรมของวิทยาทาน : การศึกษาในคราบของการผลิตและจำหน่ายสินค้า

 

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะเป็นตัวกำหนดบทบาทของครูปัจจุบัน ที่ต้องปรับตามการเปลี่ยนแปลง เช่น ครูควรรับประสบการณ์อันหลากหลาย, ครุ่นคิด พินิจ นึก รวมมถึงกระบวนการลดความเร็ว, การตีความประสบการณ์, การเชื่อมโยงประสบการณ์, ทวิวัจน์ (dialogue) ในฐานะกลไกในการเสริมสร้างปัญญา, การถางทางไปสู่วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์, สุนทรียภาพแห่งการเรียนรู้

จากนั้น ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา นำเสนอบทสังเคราะห์ : องค์ความรู้ว่าด้วยการผลิตและพัฒนาครู ในการเสวนา “เส้นทางสร้างครู ครูสร้างเด็ก สร้างสังคม” ว่า ปัจจุบันการศึกษาไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งพัฒนาการการผลิตครูในประเทศไทยเป็น 4 ยุค คือ ยุคที่ 1 ยุคก่อนผลิตครูระดับประกาศนียบัตร (ก่อนพ.ศ. 2435) ซึ่งเป็นยุคการฝึกหัดครูแบบไม่เป็นทางการและยังไม่มีการจัดตั้งสถาบันผลิตครู  ยุคที่ 2 ยุคการผลิตครูระดับประกาศนียบัตร (พ.ศ. 2435-2487) หรือยุคของการวางรากฐานการฝึกหัดครู ที่เน้นการผลิตครูระดับประกาศนียบัตรโดยการต่อยอดองค์ความรู้ของการฝึกหัสครูและปรับเปลี่ยนระบบจาก Teacher Training เป็น Teacher Education มาจนถึงปัจจุบัน โดยการใช้ระบบจากต่างประเทศผสมผสานกับความเป็นไทย ยุคที่ 3 ยุคการผลิตครูระดับปริญญา (พ.ศ. 2488-2541) เป็นยุคที่เริ่มให้ความสำคัญกับมาตรฐาน ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท อีกทั้งจุดประกายการปฏิรูปการฝึกหัดครู และ ยุคที่ 4 การผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษาระดับวิชาชีพชั้นสูง (พ.ศ. 2542–ปัจจุบัน) เป็นยุคการผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีความเป็นมืออาชีพในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูง ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 81


อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาการพัฒนาการการผลิตครู ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้ข้อค้นพบวิวัฒนาการระบบการผลิตครู ทั้งในส่วนของการคัดคนเข้าเรียนครู ที่จำเป็นต้องมีการออกแบบระบบการคัดเลือกบุคคลที่จะเข้ามาศึกษาเรียนรู้วิชาชีพครูอย่างจริงจัง กระบวนการฝึกหัดครู ที่หลากหลายทั้งในและนอกห้องเรียน รวมถึงกระบวนการบ่มเพราะความเป็นครู ตลอดจนกระบวนการประเมินรความเป็นครู หรือ วิทยฐานะ ที่ครอบคลุม ทั้งความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ ที่จำเป็นของครูตลอดจนการออกแบบความร่วมมือของภาคี และเครือข่าย ทั้งภายนอกและภายในสถาบันการศึกษาที่มีหน้าที่ในการผลิตครู ที่จะเข้ามาช่วยการออกแบบ มาช่วยกันออกแบบการขับเคลื่อนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับยุคสมัยต่อไป

ในวงสัมมนาเดียวกันนี้ ครูธนวรรธน์ สุวรรณปาล (ครูทิว) โรงเรียนราชดำริ กรุงเทพมหานคร ได้นำเสนอบทสังเคราะห์ : บทบาทครูในฐานะนักขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ว่า สามารถแบ่งออกเป็น 3 บทบาท ทั้งในลักษณะของผู้กระทำการเปลี่ยนแปลง (agency) และเป็นนักเคลื่อนไหว (activist)  คือ 1. ครูในฐานะผู้ทำงานทางวัฒนธรรม ที่สามารถสร้างวัฒนธรรมใหม่ในชั้นเรียนให้เด็กได้ซึมซับและเรียนรู้ แล้วนำไปแสดงออกทางสังคม โดยครูสามารถส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมในเชิงบวก 2.ครูในฐานะผู้ทำงานทางการเมือง ในลักษณะของนักขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในสังคม (teacher as change agent) ซึ่งครูมีอิทธิพลต่อการพัฒนาความเป็นมนุษย์และกำหนดทิศทางของสังคมด้วยการให้ความรู้และส่งเสริมนักเรียนให้เป็นนักคิดเชิงวิพากษ์ แก้ปัญหา และพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการสอนและการสร้างชุดคุณค่าและความยุติธรรมทางสังคม และ 3 ครูในฐานะปัญญาชน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ในตัวผู้เรียนและสังคม โดยการตั้งคำถามกับสิ่งที่ดำรงอยู่ กับสิ่งที่ดีที่สุดกับผู้เรียน ท้ายสุดแล้วความเข้าใจที่เกิดขึ้น


อย่างไรก็ดี การที่จะสร้างบทบาทครูในฐานะนักขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ครูจะต้องมีความเป็นผู้กระทำการ เปลี่ยนแปลง และเป็นนักเคลื่อนไหว ที่มองเห็นบทบาทของตนเองมากกว่าการเป็นผู้ ถ่ายทอด โดยวางตำแหน่งแห่งที่ของตนเองเป็นผู้ทำงานทางการเมือง (teacher as political work) ผู้ทำงาน ทางวัฒนธรรม (teacher as cultural work) และเป็นปัญญาชนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง (teacher as transform tory intellectuals) ให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในตัวผู้เรียนและสังคม เช่นเดียวกับ สังคมต่างๆทั่วโลก ที่ครูต่างถูกมองว่าเป็นบุคคลที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คน เป็นผู้นำในเรื่องต่างๆในชุมชน ตัวครูในการสร้างการเปลี่ยนแปลงนั้นเคลื่อนผ่านความหมายจากการเป็นวัตถุหรือปัจจัยของการเปลี่ยนแปลง (object of change) มาเป็นผู้กระทำการ หรือ ผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง (agent) ด้วยบทบาทของครูในฐานะผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนั้นจะช่วยสร้างการเรียนรู้ เชื่อมโยงใกล้ชิดกับการเปลี่ยนแปลงของตัวบุคคลและสังคม 

ท้ายสุดแล้วความสำเร็จจากการเปลี่ยนแปลงครู จะนำไปสู่การเป็นต้นแบบที่ดี ในการสร้างการเรียนรู้ เพื่อให้ความรู้ไปสร้างคน และสร้างสังคมที่มีคุณภาพต่อไป 

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages