เบ่งกล้ามเขมรเจอรัฐบาลฟันดาบเรื่องโด๊ป สิงคโปร์จัดเพาะกายชิงแชมป์อาเซียนแทนซีเกมส์ - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Monday 6 February 2023

เบ่งกล้ามเขมรเจอรัฐบาลฟันดาบเรื่องโด๊ป สิงคโปร์จัดเพาะกายชิงแชมป์อาเซียนแทนซีเกมส์

เพาะกายโลก เตรียมแก้ปัญหากัมพูชาตัดเพาะกายออกจากการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กัมพูชา เป็นเจ้าภาพ ด้วยการจัดชิงแชมป์อาเซียน ที่สิงคโปร์ ขึ้นมาแทนกัมพูชา รอกำหนดวันแข่งอีกครั้ง “ศุกรีย์ สุภาวรีกุล” ชี้แจงเหตุผล เนื่องจาก ทางเจ้าภาพ กัมพูชา มีปัญหาเรื่องนักกีฬาตรวจพบสารกระตุ้น และทางสมาคมกีฬากัมพูชาไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ ได้ เลยโดนรัฐบาลเขมรสั่งยุบสมาคมฯ ทำให้นักกีฬาหมดสิทธิ์แข่งเพาะกายทุกระดับทั้งอาเซียน, เอเชีย และชิงแชมป์โลก

    

นายศุกรีย์ สุภาวรีกุล นายกสมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการที่กัมพูชา ตัดกีฬาเพาะกาย ออกจากการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา วันที่ 5-17 พ.ค.เนื่องจากปัญาหาภายในประเทศของกัมพูชาเอง โดยทางคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ กัมพูชา (CAMSOC) ได้มีหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการโอลิมปิคในชาติอาเซียนให้ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของการยกเลิกการจัดการแข่งขันเพาะกาย

     

“ผมได้ทราบเรื่องดังกล่าวโดยได้รับการประสานแจ้งมาจากทางกัมพูชาว่าจะงดจัดชนิดกีฬาเพาะกายในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งนี้เนื่องจากข้อขัดข้องภายในประเทศของกัมพูชาที่สหพันธ์กีฬาเพาะกายของประเทศกัมพูชาไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการควบคุมสารต้องห้ามในนักกีฬาได้ สืบเนื่องมาตั้งแต่การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่ประเทศเวียดนามที่กัมพูชาเตรียมส่งนักกีฬา4 คนเข้าร่วมการแข่งขันแต่ไม่สามารถส่งเข้าร่วมการแข่งขันได้เพราะติดปัญหาเรื่องการใช้สารต้องห้ามทำให้ทางกัมพูชาต้องงดส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันมาแล้ว”

     

“ทางสหพันธ์เพาะกายและฟิตเนสโลก ได้กำหนดไว้ว่า สำหรับกีฬาเพาะกาย ไม่ว่าชาติไหนก็ตามต้องตรวจหาสารกระตุ้นก่อนแข่ง 3 สัปดาห์ ถ้าหากใครพบสารกระตุ้นก็ไม่สามารถแข่งขันได้ เช่นเดียวกับในการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่เวียดนาม เมื่อปีที่แล้ว มีหลายชาติ ที่ตรวจพบการใช้สารต้องห้าม ทำให้ต้องถอนตัวไม่สามารถเดินทางมาแข่งได้ เช่นเดียวกับ กัมพูชาที่ส่งแข่ง 4 คน แต่เจอสารกระตุ้น จนไม่ได้เดินทางมาแข่งซีเกมส์ที่เวียดนาม ทำให้ทางรัฐบาลกัมพูชา โดยกระทรวงกีฬาของกัมพูชา ได้ให้ทางสมาคมเพาะกายกัมพูชาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้”

      

“ต่อมาทางสหพันธ์เพาะกายและฟิตเนสโลกได้ไปปรึกษาหารือ เรื่องบรรจุ เพาะกายเข้าไป ในซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กัมพูชาเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ครั้งแรก ได้กำหนดไว้ว่าจะแข่งทั้งหมด 5 รุ่น ทางกัมพูชาได้มีการหารือเป็นการภายในระหว่างรัฐบาลกัมพูชากับทางสมาคมเพาะกายกัมพูชาในการที่จะป้องกันไม่ให้มีการละเมิดการใช้สารต้องห้ามเกิดขึ้นกับนักกีฬากันอีก ซึ่งทางสมาคมเพาะกายกัมพูชารับปากกับ ทางกระทรวงกีฬาว่าจะมีการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ แต่ถ้าแก้ไขไม่ได้จะไม่จัดแข่งเพาะกายในซีเกมส์ ผลปรากฏว่า ทางสมาคมกีฬาเพาะกายกัมพูชาไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการส่งแข่งแล้วนักกีฬาเจอโด๊ปได้ 


เมื่อเดือนพ.ย.มีเพาะกาย มีแข่งกีฬาในประเทศ เป็นการแข่งขันกีฬาแห่งชาติกัมพูชา ก็เจอว่านักกีฬา มีการตรวจพบสารกระตุ้นอีก แสดงให้เห็นว่า ทางสมาคมเพาะกายกัมพูชา ไม่สามารถ สร้างหลักประกันกับทางรัฐบาลว่านักกีฬาจะไม่เจอโด๊ป”

     

“การแข่งขันกีฬาแห่งชาติกัมพูชาจัดขึ้นเพื่อให้สหพันธ์กีฬาชนิดต่างๆ ของกัมพูชาได้ทดสอบสมรรถภาพความสามารถนักกีฬาของตนเอง 


ผลปรากฏว่านักกีฬาเพาะกายของกัมพูชาที่เตรียมส่งเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ถูกตรวจพบว่ามีการใช้สารต้องห้าม 2 คน จึงเป็นเหตุทำให้คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ CAMSOC มีความกังวลถึงความเสียหายและภาพลักษณ์ของการเป็นเจ้าภาพจึงได้มีการหารือกันภายในกัมพูชาและเห็นว่าควรยกเลิกการจัดชนิดกีฬาเพาะกายในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 เพื่อเป็นการป้องกันเหตุการณ์ที่อาจจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศกัมพูชาในฐานะเจ้าภาพได้”

    

“กัมพูชา เห็นว่าถ้าไม่พร้อมในการจัดแข่งเพาะกาย ก็ไม่ควรจัดแข่งดีกว่า ทั้งๆ ที่เพาะกายเป็นกีฬาความหวังเหรียญทอง แต่ที่ต้องตัดออก เพราะเป็นปัญหาภายในประเทศของกัมพูชาเอง การเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ของกัมพูชา เป็นการจัดในรอบ 70 ปี ถึงแม้เพาะกาย จะเป็นกีฬาความหวัง แต่ถ้าจัดแข่งแล้ว นักกีฬากัมพูชาตรวจพบว่ามีสารต้องห้าม มันน่าขายหน้าเพื่อนบ้านในอาเซียนมากกว่า จึงเห็นควรว่าการตัดเพาะกายออกจะดีกว่า และถ้าจัดแข่งโดยไม่มีนักกีฬาชาติเจ้าภาพ ก็ไม่ดี”

    

“จากการยกเลิกการจัดการแข่งขันชนิดกีฬาเพาะกายในซีเกมส์ ที่กัมพูชาในครั้งนี้ทำให้สหพันธ์กีฬาเพาะกายและฟิตเนสโลก (WBPF) ต้องเตรียมจัดการแข่งขันกีฬาเพาะกายชิงแชมป์อาเซียนขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์เป็นการทดแทน เนื่องจากชาติสมาชิกในอาเซียน อาทิ ไทย ลาว เวียดนาม เมียนมาร์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ต่างก็ได้เตรียมนักกีฬาเพาะกายของตนเองเพื่อส่งเข้าร่วมการแข่งขันซีเกมส์ที่กัมพูชามาเป็นระยะเวลานานแล้ว”

      

“ตอนนี้ชาติในอาเซียนได้มีการประชุมหารือกับทางสหพันธ์เพาะกายและฟิตเนส ถึงปัญหาการตัดกีฬาเพาะกายออกจากซีเกมส์ ว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากแต่ละชาติก็มีการเตรียมตัวก่อนแข่ง และทางสหพันธ์มีการจัดแข่งชืงแชมแ์อาเซียน, ชิงแชมป์เอเชีย และชิงแชมป์โลกอนู่แล้ว โดยก่อนหน้านี้ ทางกัมพูชา ก็ส่งนักกีฬามาแข่งชิงแชมป์โลก ที่ภูเก็ต ในเดือนธ.ค. 1 คน แต่ไม่มีปัญหาเรื่องสารกระตุ้น เพราะได้มีการตรวจหาสารต้องห้ามก่อนแข่ง 3 สัปดาห์ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามทางสหพันธ์ฯ เป็นห่วงเรื่องของชาติอื่นๆ ในอาเซียนมากกว่า แต่ต่อไปนักกีฬาเพาะกายกัมพูชา จะไม่ได้ออกมาแข่งแน่นอนแล้ว เนื่องจากทางกระทรวงกีฬาของกัมพูชา ได้ยุบสมาคมกีฬาเพาะกายของกัมพูชาเรียบร้อย และทางสหพันธ์เพาะกายและฟิตเนสโลกมีการเข้มงวดเรื่องการตรวจสารต้องห้ามของการแข่งขันเพาะกายทุกรายการ”

   

“ทาง ดาโต๊ะพอล ชัวร์ ประธานสหพันธ์กีฬาเพาะกายและฟิตเนสโลก จะมีการหารือ กับทาง 8 ชาติ ที่มีลาว, เมียนมาร์, ไทย, เวียดนาม, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, บรูไน และทางสหพันธ์เพาะกายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้งว่าการจัดชิงแชมป์อาเซียน ที่สิงคโปร์  นั้น น่าจะจัดก่อนหรือหลัง ซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ดี เราจะต้องรอการกำหนดโปรแกรมการแข่งขันก่อน โดยจะไม่ให้กระทบกับการเตรียมนักกีฬาที่จะแข่งชิงแชมป์เอเชียที่เนปาล ในวันที่ 8-14 สิงหาคม 2566” 














No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages