สกสว. ผนึกกำลัง ก.พ.ร. พร้อมส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ โชว์เคสผลงานวิจัยเด่นแก้ปัญหา PM 2.5   - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Tuesday 28 September 2021

สกสว. ผนึกกำลัง ก.พ.ร. พร้อมส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ โชว์เคสผลงานวิจัยเด่นแก้ปัญหา PM 2.5  

28 กันยายน 2564 รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)  เพื่อแสดงเจตจำนงในการร่วมกันขับเคลื่อนระบบราชการและขับเคลื่อนการเชื่อมโยงผลงานวิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ไปสู่การใช้ประโยชน์ ผ่านกลไกการทำงานของหน่วยงานราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา สกสว. เล็งเห็นว่าผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในระบบ ววน. จำนวนมากมีศักยภาพในการนำไปใช้ประโยชน์  หากมีการบูรณาการเป็นภาพใหญ่จะสามารถสร้างผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้การทำงานตอบโจทย์ใหญ่ต้องอาศัยพลังและความร่วมมือจากภาคี โดย สกสว. เห็นว่าหน่วยงานในระบบราชการถือเป็น Change Agent ที่สำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ ซึ่งไปสอดคล้องกับภารกิจหนึ่งของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ที่เน้นการบูรณาการ และเชื่อมโยงการทำงานของภาครัฐในทุกระดับ ทุกภาคส่วนให้มีเอกภาพและสอดรับประสานกันตามห่วงโซ่การพัฒนาที่ผ่านมา สกสว. และ ก.พ.ร. จึงได้หารือร่วมกันถึงการสร้างความร่วมมือนี้ ด้วยเล็งเห็นว่าความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมจะได้เข้าไปมีส่วนเสริมให้การทำงานของหน่วยงานในระบบราชการดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล 

ด้าน นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวว่า ก.พ.ร. และ สกสว. ได้ตั้งเป้าหมายร่วมกันในการที่จะนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมมาปรับใช้ในระบบการบริหารราชการ เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมที่แท้จริง การสร้างความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการที่ สกสว. จะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบราชการ ขณะเดียวกัน ก.พ.ร. ก็จะเป็นผู้มีส่วนขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ โดยเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์จะสร้างคุณูปการให้แก่ระบบราชการโดยรวม ตลอดจนนำไปสู่การสร้างประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนได้เป็นอย่างดี 

นอกจากนี้ในงานดังกล่าว ยังมีการจัดเสวนาในหัวข้อ  “การขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์  : กรณีการแก้ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ในจังหวัดพื้นที่นำร่อง”  โดยมีวิทยากรจากหลายภาคส่วนร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การนำงานผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่จริงอย่างกรณีการแก้ไขปัญหา ฝุ่นควัน PM 2.5  ประกอบด้วย ดร. บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม  นางสาววรนุช จันทร์สุริย์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รศ. ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล หัวหน้าศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร. อำพล อาภาธนากร ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)  

โดยมีการนำเสนอตัวอย่างผลงานวิจัยที่น่าสนใจ อาทิ 1) ก.พ.ร. ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) จัดทำแพลตฟอร์มกลางเชื่อมโยงฐานข้อมูล PM 2.5 แก้ปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่จังหวัดลำปางและสิงห์บุรี 2) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)   สนับสนุนงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหา PM 2.5 ภายใต้กรอบการวิจัยทั้งการพยากรณ์ การบริหารจัดการ  การบรรเทาปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสร้างการรับรู้ต่อประชาชน ภายใต้มิติสังคม เทคโนโลยีและนโยบาย 3) ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)  จัดทำ “Dustboy”  เครื่องวัดข้อมูลฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศด้วยระบบเซ็นเซอร์และจัดเก็บข้อมูล  เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย  โดยปัจจุบันทางโครงการยังขยายพื้นที่ไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนตอนบน เตรียมพร้อมแก้ปัญหาหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้าน 4) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)   จัดทำ “Smoke Watch” แอปพลิเคชันแจ้งเตือนและเฝ้าระวังไฟป่าจากการเผาในที่โล่ง แอปพลิเคชันบริหารจัดการกำลังเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าควบคุมไฟป่าอันเนื่องมาจากการเผาในภาคการเกษตร ซึ่งถือเป็นผลงานวิจัยที่เกิดจากเป็นการทำงานร่วมกันหลายฝ่ายทั้งจากฝั่งนักวิจัย GISTDA และผู้ประกอบการ และ 5) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จัดทำผลงานวิจัยและนวัตกรรมช่วยลดการเผาเศษวัสดุการเกษตร เป็นต้น 

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages