อว. จับมือ สกสว. หารือนักวิจัย BCG “กลุ่มอาหารแห่งอนาคต” ขับเคลื่อนสู่ตลาดระดับโลก - Thailand Times

Breaking

Home Top Ad


Post Top Ad

วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2564

อว. จับมือ สกสว. หารือนักวิจัย BCG “กลุ่มอาหารแห่งอนาคต” ขับเคลื่อนสู่ตลาดระดับโลก

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมการประชุมหารือกับนักวิจัยกลุ่มอาหารแห่งอนาคต นำโดย ผศ.ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ หัวหน้าหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์วิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านอาหารแห่งอนาคต สกสว. และรักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมคณะนักวิจัย ร่วมหารือแนวทางการขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็นผู้นำด้านอาหารแห่งอนาคต

โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหาร ในมิติของการวิจัยด้านนี้ก็ถือว่าการสร้างเทคโนโลยี นวัตกรรม ที่มีศักยภาพและความเข้มแข็งสูง ในฐานะผู้กำหนดนโยบาย มองว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมด้านอาหารของประเทศไทยจะส่งผลลัพธ์ต่อการพัฒนาประเทศทั้งในระยะปานกลางและระยะยาว เนื่องจากโลกในปัจจุบันและอนาคต มุ่งเน้นการเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของประชากร (Well - being) อาหารจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของการส่งเสริมสุขภาวะที่ดี และจะเป็นสิ่งที่เชื่อมระหว่างโลกตะวันออกและโลกตะวันตกผ่านทุนวัฒนธรรมทางอาหาร (Food Heritage) ที่ประเทศไทยสะสมมานาน ทั้งนี้ ต้องทำงานร่วมกับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการครบทั้ง value chain ของอุตสาหกรรมอาหาร อีกทั้งวาระแห่งชาติในเรื่อง บีซีจีโมเดล (BCG Model) โมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่รัฐบาลประกาศใช้เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ยังได้ระบุให้สาขาเกษตรและอาหาร เป็น 1 ใน 4 สาขาของวาระแห่งชาติดังกล่าว ที่เราต้องผลักดันและหนุนเสริม นอกจากนี้ นโยบายของ อว. จะส่งเสริมให้เกิดสถาบันที่มีความเป็นเลิศเฉพาะด้านอาหาร (Food Institute) ของประเทศไทยให้อยู่ในระดับโลก 

ทางด้าน ผศ.ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ หัวหน้าหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ ววน. ด้านอาหารแห่งอนาคต สกสว. และรักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. ได้รายงานสถานการณ์ ววน. ด้านอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยว่า สถานการณ์การส่งออกของไทยยังเป็นแบบวัตถุดิบขั้นต้นเป็นหลัก เมื่อเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 ทำให้การส่งออกลดลง แต่โอกาสของประเทศไทยยังมีอยู่ ซึ่งต้องใส่คุณค่าเข้าไปในวัตถุดิบและอาหารของไทย พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงถึงคุณค่าทางอาหารไทย เพื่อสนองความต้องการผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น อาหารเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน อาหารป้องกันความจำเสื่อม เป็นต้น กระทรวง อว. ได้มีการสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจจำนวนมาก รวมถึงสร้าง start up ในธุรกิจอาหาร แต่ยังต้องการการสนับสนุนจากกระทรวง อว. เช่น การจัดตั้ง food flavor institute ประเทศไทยที่เป็นโอกาสในการเสนอกลิ่นรสไทยสู่ตลาดโลก เป็นต้น นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังได้มีการลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ววน. ด้านอาหาร โดยมีเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงและบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมอาหารที่กระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมุ่งเน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะตามบริบทของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งยังผลักดันเรื่องการสร้างกำลังคนในทุกระดับ สร้างเครือข่ายกับหน่วยงานด้านอาหารในต่างประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย

นอกจากนี้ การประชุมในวันนี้ยังเสนอให้มีการผลักดัน BCG ด้านอาหารของประเทศ ให้เป็นหนึ่งในวาระการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (Asia - Pacific Economic Cooperation - APEC) ในปี 2565 เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยด้านอาหารของไทยให้เป็นที่ประจักษ์ต่อนานาประเทศ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad


Pages