กรมควบคุมโรค เตือนช่วงนี้มีฝนตกในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ระวังป่วยด้วยโรคไข้ฉี่หนู แนะให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Saturday 29 May 2021

กรมควบคุมโรค เตือนช่วงนี้มีฝนตกในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ระวังป่วยด้วยโรคไข้ฉี่หนู แนะให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนช่วงนี้มีฝนตกในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนระมัดระวังอาจป่วยด้วยโรคไข้ฉี่หนู โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมแนะให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ท
หรือถุงพลาสติกที่สะอาด เมื่อลุยน้ำเสร็จต้องรีบล้างมือล้างเท้าด้วยน้ำสบู่โดยเร็ว
วันนี้ (27 พฤษภาคม 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้มีฝนตกในหลายพื้นที่ ซึ่งหลังจากฝนตกอาจมีน้ำท่วมขังตามท้องถนนหรือพื้นที่ที่ทำการเกษตรต่างๆ ประชาชนควรระมัดระวังโรคเลปโตสไปโรสิสหรือโรคไข้ฉี่หนูเป็นพิเศษ เนื่องจากการเดินลุยน้ำ
ย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไข้ฉี่หนูได้ง่าย เชื้อโรคนี้จะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล ผิวหนังที่อ่อนนุ่มจากการแช่น้ำนาน และการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากฉี่หนูหรือสัตว์อื่นๆ ที่ติดเชื้อ
สถานการณ์โรคไข้ฉี่หนูตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 22 พฤษภาคม 2564 พบผู้ป่วย 276 ราย เสียชีวิต 4 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ อายุ 45-54 ปี รองลงมาอายุ 35-44 ปี และอายุ 55-64 ปี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตร ภาคที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด ได้แก่ ภาคใต้ รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ระนอง ยะลา สงขลา พังงา และพัทลุง ตามลำดับ โดยจากข้อมูลในปีนี้พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้  จำนวน 195 ราย (ร้อยละ 71) และผู้เสียชีวิตทั้ง 4 ราย ก็อยู่ในพื้นที่ภาคใต้เช่นกัน
สำหรับอาการของโรคไข้ฉี่หนู คือ จะเริ่มจากมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว จะปวดมาก โดยเฉพาะที่น่องและโคนขา มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และตาแดง เป็นต้น หากประชาชนเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน แล้วมีอาการดังกล่าว ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว อย่าซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ที่สำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อที่แพทย์จะได้ตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาทันที โดยให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรค ตามอาการและความรุนแรงของโรค ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ เกิดจากพบแพทย์ช้าเกินไป 
          
นายแพทย์โอภาส กล่าวแนะนำว่า วิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคไข้ฉี่หนู มีดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติกที่สะอาด เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง กรณีมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ  2.หมั่นล้างมือล้างเท้าด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ 3.หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

*******************************
ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 27 พฤษภาคม 2564

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages