วช. หนุนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลิตถุงมือยางฆ่าเชื้อด้วยตัวเอง ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Friday 30 April 2021

วช. หนุนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลิตถุงมือยางฆ่าเชื้อด้วยตัวเอง ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิค- 19  ทำให้เกิดความตื่นตัวในการป้องกันการติดเชื้อทั้งในระดับบุคคล องค์กรและสังคม  ภายใต้แผนงานวิจัยการยกระดับการใช้ประโยชน์วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเชิงรุก แผนงานย่อย โครงการต้นแบบการยกระดับคุณภาพ และมาตรฐานด้านการวิจัย และนวัตกรรม ด้านการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการวิจัยการพัฒนาถุงมือยางธรรมชาติเคลือบน้ำยานาโนอิมัลชันป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส Covid-19 เพื่อใช้ในพื้นที่เสี่ยงด่านสะเดา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา

ผศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า ปัญหาหนึ่งของการใช้ถุงมือยางในกิจกรรมต่างๆ คือ มีเชื้อโรคติดอยู่ที่พื้นผิวถุงมือยาง แต่กลับไม่เคยมีการศึกษาอย่างจริงจังว่า ถุงมือที่ใช้มีส่วนช่วยในการกระจายเชื้อโรค  หรือเป็นพาหะแพร่เชื้อโรคระหว่างบุคคลมากน้อยเพียงใด  ดังนั้น เพื่อลดการแพร่เชื้อและหยุดการกระจายเชื้อโรคผ่านถุงมือยาง จึงได้ดำเนินโครงการวิจัยการพัฒนาถุงมือยางธรรมชาติเคลือบน้ำยานาโนอิมัลชันป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส Covid-19 เพื่อใช้ในพื้นที่เสี่ยงด่านสะเดา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก วช. เพื่อผลิตถุงมือยางพาราเคลือบน้ำยานาโนอิมัลชัน ซึ่งเป็นถุงมือที่สามารถฆ่าเชื้อได้ด้วยตนเอง  ผลจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการด้วยการนำถุงมือยางพาราและถุงมือไนไตรที่ผลิตจากยางสังเคราะห์มาเคลือบสูตรน้ำยานาโนอิมัลชัน เพื่อปรับแต่งโครงสร้างพื้นผิวถุงมือยางให้มีคุณสมบัติกำจัดและฆ่าเชื้อโรคด้วยตนเอง คือสารนาโนอิมัลชันที่เคลือบบนถุงมือยางมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราและเชื้อไวรัสได้  ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้ออยู่ได้ประมาณ 24 ชั่วโมง ตามปริมาณสารเคลือบที่หลุดร่อนจากการใช้งาน 


ในส่วนของการเตรียมสารเคลือบนาโนอิมัลชันและกรรมวิธีในการเคลือบถุงมือยางได้จดทะเบียนสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว ในลำดับต่อไปจะร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อผลิตถุงมือยางพาราเคลือบสารนาโนอิมัลชััน 30,000 คู่  เพื่อนำไปทดลองกับคนในสถานที่ปฏิบัติงานจริง กลุ่มเป้าหมายคือผู้ปฎิบัติงานที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เพราะเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่นำมาจากประเทศเพื่อนบ้าน  และกลุ่มผู้ปฏิบัติงานในชุมชนต่างๆ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน จึงสามารถสรุปผลการทดลองและส่งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประกอบการพิจารณาเพื่อขอขึ้นทะเบียน และผลิตออกมาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ ในการเคลือบสารนาโนอิมัลชั่นจะเพิ่มต้นทุนในการผลิตประมาณคู่ละ 0.50 - 1.00 บาท สำหรับผลที่ได้จากโครงการนี้จะทำให้ถุงมือยางมีความปลอดภัยในการใช้งาน ลดการปนเปื้อน และป้องกันการติดเชื้อจากการสัมผัสลงได้  นอกจากนี้ คาดว่าจะเพิ่มเปอร์เซ็นต์การใช้น้ำยางข้นในประเทศ โดยกระบวนการแปรรูปในระดับอุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยางไม่น้อยกว่า 10 % ของการใช้น้ำยางข้นแปรรูปในอุตสาหกรรมการผลิตถุงมือเคลือบน้ำยานาโนอิมัลชัน

ผศ.ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนายางพารา มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันในอุตสาหกรรมผลิตถุงมือยางในประเทศไทยผู้ประกอบการส่วนใหญ่นิยมใช้น้ำยางสังเคราะห์มาผลิตเป็นถุงมือยางมากขึ้นเพราะสะดวกต่อการขึ้นรูป ปริมาณการใช้น้ำยางพาราจากธรรมชาติจึงน้อยลง เมื่อเทียบสัดส่วนแล้วมีการใช้น้ำยางสังเคราะห์ 9 ส่วน ในขณะที่ใช้น้ำยางจากธรรมชาติเพียง 1 ส่วนเท่านั้น  แต่ในสถานการณ์ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19  ทำให้ความต้องการใช้ถุงมือยางเพื่อป้องกันและลดโอากาสการแพร่เชื้อมีมากขึ้น  หากงานวิจัยการพัฒนาถุงมือยางธรรมชาติเคลือบน้ำยานาโนอิมัลชันป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส Covid-19 ประสบผลสำเร็จ  จะทำให้ความต้องการถุงมือยางที่ผลิตจากน้ำยางธรรมชาติมีมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ  จะมีส่วนช่วยยกระดับปริมาณการใช้น้ำยางธรรมชาติให้มากขึ้น และส่งผลดีต่อเกษรกรผู้ปลูกยางพารา

ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ภายใต้ภารกิจสำคัญของ วช. คือ การส่งเสริมวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศด้านการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก วช.ได้สนับสนุนโครงการวิจัยการพัฒนาถุงมือยางธรรมชาติเคลือบน้ำยานาโนอิมัลชันป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส Covid-19 เพื่อใช้ในพื้นที่เสี่ยงด่านสะเดา อำเภอ สะเดา จังหวัดสงขลา เพื่อนำวัตถุดิบที่มีอยู่มากในภาคใต้ประจำท้องถิ่นคือ น้ำยางพาราเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการดูแล ป้องกันประชาชนจากการติดเชื้อโรค เและถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยไปยังชุมชนท้องถิ่นเพื่อยกระดับการผลิต ช่วยสร้างรายได้ให้ประชาชน และตอบสนองความต้องการพัฒนาของท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างยั่งยืน


 

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages