‘ภาษา’ พลิกชีวิต หนุ่มวัย 19 ปี จาก รปภ. รายวัน เข้าเรียนต่อ ‘มหาวิทยาลัย’ - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Thursday 13 August 2020

‘ภาษา’ พลิกชีวิต หนุ่มวัย 19 ปี จาก รปภ. รายวัน เข้าเรียนต่อ ‘มหาวิทยาลัย’

จากพนักงานร้านสะดวกซื้อ แปรเปลี่ยนเป็น พนักงาน รปภ. รายวัน ควบคู่กับการรับจ้างแปลเอกสาร เพื่อเก็บออมไปชำระค่าเทอมที่ค้างไว้ และเรียนต่อปริญญาตรี โดยเชื่อว่าทักษะภาษาอังกฤษที่ตนสั่งสมมา จะเปลี่ยนแปลงชีวิตและพาเขามาได้ถึงทุกวันนี้

เจต - เจต คารวะ วัย 19 ปี เฟรชชี่หนุ่มรั้วบัวสวรรค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่ชีวิตแวดล้อมด้วยภาษาอังกฤษ จนรู้สึกว่าภาษาเป็นทั้งแขนและขาของชีวิต ที่ช่วยเบิกทางชีวิตให้ดีขึ้น จนก้าวสู่การศึกษาต่อระดับปริญญาตรี

เรื่องราวชีวิตด้านครอบครัว อาจไม่สมบูรณ์นัก ชีวิตเจตอยู่ลำพังกับแม่ตั้งแต่เจตอยู่ชั้นอนุบาล โดยไม่เคยได้เจอหน้าพ่ออีกเลยตั้งแต่นั้นจนกระทั่งปัจจุบัน ส่วนแม่แต่งงานใหม่กับชาวต่างชาติมีลูกร่วมกันอีก 1 คน ต้องต่อสู้และใช้ชีวิตลำพังหลายสถานการณ์ ซึ่งปัจจุบันเจตอยู่กับลุง ซึ่งเป็นเพื่อนของแม่ โดยแม่ได้ส่งเสียจุนเจือตามสมควรในส่วนของค่าเช่าบ้าน ค่าใช้จ่ายต่อวัน รวมถึงให้คำปรึกษาต่าง ๆ โดยเจตบอกว่า “นอกจากแม่แล้ว...  เสาหลักอีกต้นหนึ่งในชีวิตของผม ก็คือลุง”

การศึกษาของเจต เริ่มต้นที่โรงเรียนสารสาสน์วิเทศคลองหลวง ต่อด้วยโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต (English Program) ด้วยเส้นทางครอบครัวที่อาจต่างไปจากคนอื่นและปัญหาด้านการเงินจนเป็นเหตุให้ต้องค้างค่าเทอมราว ๆ 1 แสนกว่าบาท โดยทางโรงเรียนอนุโลมให้เข้าสอบได้ เพราะเจตเคยเป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งขันทักษะภาษาจนได้รับรางวัลในระดับโรงเรียนจนถึงระดับอาเซียน 

“ผมเข้าใจทางโรงเรียนเป็นอย่างดี กรณีที่ผมค้างชำระค่าเทอม ทั้งหมด 4 เทอม ผมจึงใช้วุฒิ ม.3 หางานทำ เก็บออมเพื่อหวังว่าจะเพียงพอสำหรับจ่ายค่าเทอม และเริ่มงานครั้งแรกด้วยการเป็นพนักงานร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง จนล่าสุดมาสมัครเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรายวัน ประจำศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต หากมีเวลาว่างนอกเหนือจากนี้ก็จะรับงานแปลเอกสารร่วมด้วย”

ทำงานไปด้วย เก็บเงินด้วย น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดตอนนั้นที่สามารถทำได้ จนได้พบกับพี่หนิง (สุภาพร โพธิ์สพ) ซึ่งทำงานที่ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต“ตอนนั้นสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งศูนย์การค้าจำเป็นต้องมีมาตรการคัดกรองผู้คนเข้าออก และมีชาวต่างชาติมาใช้บริการ แต่ทำตามขั้นตอนไม่ได้เนื่องมาจากภาษาและการสื่อสารของคนที่คัดกรอง ผมจึงเข้าไปช่วยสื่อสารและอธิบาย”

พอพี่หนิงเห็น ก็เข้ามาสอบถามด้วยความแปลกใจ ทำไมพูดได้ สื่อสารได้ จึงเล่าเรื่องราวชีวิตให้ฟัง และอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พี่หนิงเข้าใจ เห็นใจ จึงได้ยื่นมือเข้ามาช่วยโดยเขียนจดหมายเรื่องราวชีวิตของผมไปยังศูนย์ดำรงธรรม จนได้ไปพบกับผู้ใหญ่หลายท่าน ซึ่งต่างก็ได้รับความอนุเคราะห์เป็นอย่างดีมาก ๆ และพี่หนิงยังได้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายส่วนต่างของค่าเทอม จนผมได้รับวุฒิ ม.6 อย่างสมบูรณ์

ขณะเดียวกันทางโรงเรียนฯ ยังให้คำแนะนำในการสมัครเรียนต่อ เพราะเห็นว่าผมมีความสามารถด้านภาษา และได้แนะนำให้ลองศึกษาข้อมูลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เพราะมองว่ามีทุนการศึกษา มีการดูแลนักศึกษาที่ดีแห่งหนึ่ง ที่สำคัญคือใกล้บ้าน เดินทางสะดวก จนอาจเป็นหนทางให้ช่วยลดรายจ่ายได้ และได้แนะนำให้พบกับรองอธิการบดี มทร.ธัญบุรี ท่านหนึ่ง ซึ่งผมก็ได้รับความอนุเคราะห์ที่ดีมากด้วยเช่นกัน 

ความฝันจุดประกายให้เป็นจริงอีกครั้งกับการเรียนระดับมหาวิทยาลัย ที่มีโอกาสได้เลือกเรียนคณะตามความถนัด นั่นคือคณะศิลปศาสตร์ มทร.ธัญบุรี สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร 

“มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้ออกประกาศยกเว้นการเรียนรายวิชาภาษาอังกฤษสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ที่มีความรู้ความสามารถและทักษะการใช้ภาษาอังกฤษในระดับดี ผมจึงนำการสอบวัดความสามารถทางภาษาอังกฤษ (IELTS) มายื่นเทียบเป็นผลการเรียนในรายวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งผมได้คะแนนสอบ IELTS อยู่ที่ระดับ 7.0 จากระดับคะแนน 9.0”

แม้จะเป็นจุดเล็ก ๆ จากการสะสมความรู้ความสามารถด้านภาษา แต่ผมเชื่อว่า “ภาษาอังกฤษเป็นวิชาที่ช่วยพลิกชีวิตจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่งที่ดีขึ้นได้” และทราบมาว่า ผมน่าจะเป็นนักศึกษาคนแรกของมหาวิทยาลัยที่ยื่นเทียบผลการเรียนในรายวิชาภาษาอังกฤษในครั้งนี้ 

ปลายทางชีวิต ผมมองว่า “ในวันข้างหน้าเราอาจจะไม่ต้องเหนื่อยกว่าที่เป็นอยู่” แต่เข็มทิศชีวิตก็ไม่ได้มุ่งเป้าหรือชี้ไปในทิศทางใดอย่างชัดเจน ถ้ามีใครถามว่าเคยท้อแท้กับชีวิตบ้างไหมที่ผ่านมา ก็กล้ายืนยันว่า ผมไม่เคยท้อ แม้จะกล้ายอมรับว่ามีปัญหาก็ตาม “เวลาที่มีปัญหา จะไม่มองว่ามันเป็นโจทย์ปัญหา” และพยายามไม่คิดมากหรือคิดเยอะ ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ชีวิตของเราก็จะเปรียบเหมือนการผูกเชือกมัดกับตัวเอง เราก็จะยิ่งทุกข์ใจ เสียใจ เพราะชีวิตทุกคนต่างต้องพบปะกับโจทย์ปัญหาที่ต่างกันไป 

“ทำไมถึงเก่งภาษาอังกฤษ” คือคำถามที่เจอบ่อย อาจเป็นไปได้ว่าผมพาชีวิตไปข้องเกี่ยวกับภาษาอังกฤษอยู่ตลอดเวลา สิ่งแรกคือการอ่านอะไรก็ตามที่เป็นภาษาอังกฤษ ส่วนคำไหนที่ไม่รู้ก็จะหาคำแปล ซึ่งการค้นหาความหมายเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งที่ช่วยทำให้เราจำได้ ผมจึงจำศัพท์ยาก ๆ ได้ จากนั้นเราต้องสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษอยู่ทุกวัน โดยเฉพาะแก๊งเพื่อนต่างชาติที่เล่นเกมส์ออนไลน์ด้วยกัน สิ่งสุดท้ายคือการดูหนังฟังเพลงต่างประเทศ ซึ่งอันนี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด 

ส่วนตัวมองว่า การสื่อสารกับต่างชาตินั้นนอกจากฝึกความกล้าแสดงออกแล้ว ยังทำให้เราได้เรียนรู้วัฒนธรรม มารยาทของเขาอีกด้วย แต่หลายคนไม่กล้าและกลัวการสื่อสาร จึงอยากให้ทุกคนเปิดใจกว้าง ๆ และมองว่า “ภาษาอังกฤษเป็นแขน เป็นขา และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต”

 เจตยังบอกอีกด้วยว่า พร้อมที่จะถ่ายถอด ฟุต-ฟิต-ฟอ-ไฟ ให้กับเพื่อน ๆ โดยไม่หวงความรู้ เพราะเราเคยได้รับโอกาสที่ดีจากภาษามาแล้ว จึงอยากใช้ทักษะภาษาดังกล่าวนี้ ไปช่วยพัฒนาฝึกฝนคนอื่นต่อไป  ไม่แน่สักวันหนึ่ง ทักษะภาษาอังกฤษของเพื่อน ๆ อาจจะเป็นใบเบิกทาง พาชีวิตให้พบกับเรื่องราวที่พลิกชีวิตให้ดีขึ้นแบบผม ก็เป็นได้... ขอเพียงเปิดใจยอมรับภาษาอังกฤษ.

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages