ซินโครตรอน อว. จับมือ TSEC รวมพลังความคิดผลักดันเทคโนโลยีไทยสู่ Deep Tech
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จับมือภาคีความร่วมมือวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ไทย รวมพลังความคิด ผลักดันเทคโนโลยีไทยสู่ Deep Tech ผนึกกำลังวิทย์-วิศวะไทย ขับเคลื่อนนวัตกรรมสู่อนาคต พร้อมริเริ่ม “TSEC Fellow” ปั้นนักวิจัยรุ่นใหม่
นครราชสีมา – สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เป็นเจ้าภาพจัดประชุมภาคีความร่วมมือวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ไทย (Thailand Science and Engineering Consortium – TSEC) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2568 ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จ.นครราชสีมา โดยมี ศ.ดร.สันติ แม้นศิริ นายกสมาคมสภาคณบดีวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วยคณบดีและผู้แทนจากคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ทั่วประเทศเข้าร่วมเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือและผลักดันการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
การประชุมเริ่มต้นด้วยการนำเสนอพันธกิจของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนในฐานะโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ขั้นสูง โดย รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จากนั้นเป็นการบรรยายโดย รศ.ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ ผู้แทนสภาคณบดีวิศวกรรมศาสตร์ และ ศ.ดร.สันติ แม้นศิริ ซึ่งได้กล่าวถึงบทบาทของสภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ก่อนที่ผู้เข้าร่วมจะได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการแสงสยามและห้องปฏิบัติการด้านเทคนิคและวิศวกรรมของสถาบันฯ เพื่อชมศักยภาพในการสนับสนุนการวิจัยระดับสูง
จากนั้นมีการประชุมระดมสมองเพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือในอนาคต โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมแลกเปลี่ยน อาทิ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ศ.ดร.สันติ แม้นศิริ รศ.ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ซึ่งประเด็นสำคัญที่หารือร่วมกัน ได้แก่ การส่งเสริมอุตสาหกรรม Deep Tech ประกอบด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน เทคโนโลยีอวกาศ และเทคโนโลยีดาราศาสตร์ ตลอดจนการพัฒนาอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ภายในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้า เช่น เทคโนโลยีฟิล์มบาง โดยเน้นการสร้างทีมผู้เชี่ยวชาญเพื่อวิเคราะห์โจทย์วิจัยและความต้องการของตลาด พร้อมกันนี้ยังมีการผลักดันเทคโนโลยีการถ่ายภาพความละเอียดสูง (Optics) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์
ไฮไลต์ของการประชุมครั้งนี้คือข้อเสนอการจัดตั้งโครงการ “TSEC Fellow” โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เพื่อเปิดพื้นที่ให้อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ได้มีโอกาสร่วมทำวิจัยกับหน่วยงานวิจัยขั้นสูง โดยใช้โจทย์ที่ท้าทายจากโลกจริง พร้อมกันนี้ยังเป็นเวทีในการพัฒนานักวิทยาศาสตร์และวิศวกรรุ่นใหม่ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในอนาคต
การประชุมภาคีครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาควิชาการ หน่วยงานวิจัย และอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์อย่างเต็มศักยภาพ สู่การวิจัย การพัฒนาบุคลากร และการขับเคลื่อนนวัตกรรมให้ตอบโจทย์ประเทศในยุคใหม่อย่างแท้จริง
No comments:
Post a Comment