ROADSHOW “FAKE OR FRESH?” สสส.– มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว จัด นิทรรศการสัญจร ปลุกพลังวัยใส สร้างพื้นที่ “ปลอดทอยพอด” - Thailand Times

Breaking



Post Top Ad

Friday, 18 July 2025

ROADSHOW “FAKE OR FRESH?” สสส.– มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว จัด นิทรรศการสัญจร ปลุกพลังวัยใส สร้างพื้นที่ “ปลอดทอยพอด”

ROADSHOW “FAKE OR FRESH?” สสส.– มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว จัด นิทรรศการสัญจร ปลุกพลังวัยใส สร้างพื้นที่ “ปลอดทอยพอด” รู้เท่าทันภัยบุหรี่ไฟฟ้า หลังพบพฤติกรรมเด็กวัยประถมทดลองสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น 

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2568 ที่โรงเรียนบางนาใน เขตบางนา กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว จัด Roadshow นิทรรศการสัญจร FAKE OR FRESH? – MY LIFE EXHIBITION ภายใต้โครงการ “รู้ทันสื่อ รู้ทันภัย ป้องกันเยาวชนไทยจากบุหรี่ไฟฟ้า” สร้างภูมิคุ้มกันทางความคิดและจิตใจ เสริมแกร่งเด็กและเยาวชนรู้เท่าทันพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ โดยได้รับความสนใจจากครู นักเรียน ผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่เขตสำนักงานเขตบางนา ร่วมกิจกรรม โดยหวังให้ผู้ใหญ่ร่วมเรียนรู้ภัยอันตรายที่มาในรูปแบบควันพิษจากบุหรี่ไฟฟ้าร่วมกับเด็ก เพื่อสร้างสถานศึกษาปลอดทอยพอด

 

ดร.วีรภัทร ไม้ไหว ผู้อำนวยกาารโรงเรียนวัดบางนาใน เขตบางนา กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้ไม่ใช่แค่นิทรรศการธรรมดา แต่เป็นนิทรรศการมีชีวิตที่ออกแบบมาเพื่อให้นักเรียนของเราได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง เข้าใจถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าจริง ๆ พร้อมกับฝึกการคิดวิเคราะห์ รู้เท่าทันสื่อ และเลือกสิ่งที่ดีให้กับตัวเองในแบบสนุก ๆ ในยุคที่เราจะเห็นได้ว่าเด็กและเยาวชนส่วนมากต้องเผชิญกับข้อมูลที่หลากหลาย บางอย่างดูเท่ ดูทันสมัย แต่ซ่อนความอันตรายเอาไว้ ซึ่งกิจกรรมในวันนี้จะช่วยให้เรา “เลือกได้ ดูออก” และไม่ตกเป็นเหยื่อของการตลาดที่หลอกลวง โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าที่ถูกนำเสนอเหมือนเป็นของเล่นปลอดภัย แต่เบื้องหลังคืออันตรายต่อสมอง ต่อปอด ต่อสุขภาพของเด็กทุกคน

 

“คือการออกแบบผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เด็กติดกับดักมากขึ้น ทำให้โรงเรียนวัดบางนาใน มีมาตรการป้องกันใช้ระบบคะแนนพฤติกรรมดูแลเด็กทั้งหมด 600 กว่าคน หากพบเด็กมีปัญหาเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ก็จะเข้าสู่กระบวนการทำความดี เช่น ทำความสะอาดสถานศึกษา ช่วยครูทำงาน และเชิญผู้ปกครองร่วมหาทางออกของปัญหา เพราะปฏิเสธไม่ได้ที่เด็กจะพกพาบุหรี่ไฟฟ้าติดกับตัว ด้วยปัจจัยแวดล้อมที่เด็กเจอกับตัวเอง ทางโรงเรียนเองจึงต้องทำหน้าที่ให้เต็มที่ เพื่อชี้ให้พวกเขาเห็นโทษให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะการจัดการประชุมผู้ปกครองทุกภาคเรียน ชี้แจงภัยของบุหรี่ไฟฟ้าและยาเสพติด เพื่อให้ครอบครัวร่วมกันปกป้องเด็กเยาวชน ยกตัวอย่างตั้งแต่เปิดเทอมมาพบ 2 เคส ที่เด็กอ้างว่าเป็นของพี่ชายฝากไว้ เห็นไหมครับว่าเราจึงให้ความสำคัญเพื่อให้เด็กเป็นผู้เลือกว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดีกับตัวเอง” ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบางนาใน กล่าว

 

นางสาวยอดขวัญ รุจนกนกนาฏ นักบริหารแผนงานชำนาญพิเศษ สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก (สสส.) กล่าวว่า การจัดนิทรรศการให้เยาวชนได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง ทําความเข้าใจกลยุทธ์ทางการตลาดของผู้ผลิต และผลกระทบจากการสูบ เรียนรู้กลไกการทํางานของสารเคมีในบุหรี่ไฟฟ้า และผลเสียต่อสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว วิเคราะห์การชักจูงผ่านสื่อดิจิทัลโซเชียลมีเดีย และบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิด ให้สามารถ แยกแยะข้อมูลจริง–เท็จ สื่อโฆษณาแฝง และเลือกใช้ชีวิตอย่างมสติ ลดเสี่ยงต่อพฤติกรรมเสี่ยงโดยเฉพาะจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า

​​​​

“ เราต้องการให้เด็ก ครู ผู้ปกครองได้เรียนรู้ว่าจริง ๆ แล้วหน้าตาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นยังไง มีพัฒนาการยังไง กลิ่นรสยั่วตายั่วใจเด็กขนาดไหน ต้องรู้เท่ารู้ทันบุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นทอยพอดยุคใหม่ เพราะตอนนี้พบว่ามีการทดลองใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับข่าวสารการจับกุมบุหรี่ไฟฟ้าที่เราจะเห็นตามสื่อ แสดงว่าจริง ๆ แล้วแนวโน้มบุหรี่ไฟฟ้ามีการใช้งานมากขึ้นในประเทศไทยค่ะ ด้วยแพลตฟอร์มการซื้อขายที่เข้าถึงได้ง่าย พวกเราควรเรียนรู้ทันกลยุทธ์การตลาดบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อเราจะป้องกันยังไงได้บ้าง ทอยพอดยุคใหม่มีแพคเก็จสวยงามจริงแต่ซ่อนภัยอันตรายมหาศาล” นางสาวยอดขวัญ กล่าว

 

นางสาวยอดขวัญ ยังกล่าวอีกว่า จากข้อมูลล่าสุดพบว่าเยาวชนอายุ 15–20 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าถึงร้อยละ 25 จากการสํารวจของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพในปี 2566 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นโดยผู้ที่เริ่มสูบตั้งแต่อายุน้อยมีแนวโน้มสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่าสูบบุหรี่มวน เหตุผลหลักคือต้องการคลายเครียดและติดนิโคตินจนเลิกไม่ได้ ทำให้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยจากการสูบบุหรี่เกือบ 900-1,000 บาท/ เดือน

 

ขณะที่นางอำนวยพร เอี่ยมพันธ์ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า สถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าปัจจุบันต้องยอมรับว่าเข้าถึงเด็กวัยชั้นประถมศึกษาแล้ว ครู ครอบครัว มีส่วนสำคัญในการดูแลฟูมฟักเด็กให้เติบโตอย่างสมบูรณ์ ภัยใกล้ตัวที่มองไม่เห็นอย่าง บุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นฆาตกรเงียบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องเป็นแกนหลักทำให้เด็กได้เรียนรู้ภัยอันตรายและปลูกฝังให้พวกเขาไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว จากการได้พูดคุยกับครู เด็กในโรงเรียนที่เข้าร่วมนิทรรศการพบว่าเด็กเล็กประถมต้นรู้จักบุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่เด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า จะเริ่มสูบเพราะคนในครอบครัว เช่น พ่อแม่ พี่ชาย  หรือเพื่อนที่อยู่บ้านละแวกเดียวกัน

 

“ จึงอยากจะเชิญชวนคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง ให้ความสนใจและไม่อนุญาตให้เด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้ร่วมรับชมข่าวสาร ติดตามข้อมูลพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าในทุกมิติ จากเพจมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ส่วนสถานศึกษาไหนสนใจต้องการจัดกิจกรรมภัยบุหรี่ไฟฟ้า ก็สามารถติดต่อมาเพื่อจับมือกันให้ความรู้กับเด็กเยาวชน” นางอำนวยพร กล่าว








No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages