เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ประเทศไทย จัดงาน Delta ESG Forum 2025 - Thailand Times

Breaking



Post Top Ad

Thursday, 17 July 2025

เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ประเทศไทย จัดงาน Delta ESG Forum 2025

เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ประเทศไทย จัดงาน Delta ESG Forum 2025 เพื่อร่วมกำหนดทิศทางสู่ประเทศไทยที่ยั่งยืนและเท่าเทียมยิ่งขึ้น

กรุงเทพฯ 17 กรกฎาคม 2568 — บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้นำระดับโลกด้านการจัดการพลังงานและผู้ให้บริการโซลูชันสีเขียวอัจฉริยะ จัดงาน Delta ESG Forum 2025 ภายใต้แนวคิด “ร่วมพลังทุกภาคส่วน เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน” โดยมีผู้กำหนดนโยบายระดับสูง ผู้นำภาคอุตสาหกรรม และผู้เชี่ยวชาญด้าน ESG เข้าร่วมอย่างคับคั่ง เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการเติบโตอย่างทั่วถึงของประเทศไทย จุดเด่นสำคัญของงานในปีนี้คือ การเน้นย้ำบทบาทของความร่วมมือข้ามอุตสาหกรรมและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยมีการจัดเวิร์กช็อปย่อย 3 หัวข้อ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้ร่วมกันแบ่งปันมุมมองและกลยุทธ์ในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ภายในงานเดลต้ายังได้แนะนำโครงการกำหนดราคาคาร์บอนภายใน (Internal Carbon Pricing: ICP) ในระดับโลก ที่อัตรา 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO₂e) หนึ่งตัน พร้อมทั้งนำเสนอแผนงานด้านความยั่งยืนและโครงการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรดแมปในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวในการบรรยายเปิดงานในหัวข้อ “บทบาทความร่วมมือภาคส่วนเพื่อเป้าหมายด้าน ESG” ว่า “ความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างประเทศไทยให้มีความยืดหยุ่น มีความสามารถในการแข่งขัน  และพร้อมรับมือกับความท้าทายกับความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทุกคนและทุกภาคส่วนต้องเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อนำพาประเทศไทยสู่การบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 โดยเดลต้ายังคงเป็นต้นแบบสำคัญของพันธมิตรภาคเอกชนของเราที่ร่วมขับเคลื่อนความเป็นเลิศด้าน ESG ในภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง”

นายวิคเตอร์ เจิ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) กล่าวในคำกล่าวต้อนรับหัวข้อ “กำหนดอนาคตของประเทศไทยผ่านแนวทางด้าน ESG” กล่าวเน้นย้ำ “เดลต้ามุ่งมั่นสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ผ่านการแบ่งปันความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของเราในการขับเคลื่อนกลยุทธ์และแนวทาง ESG ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือข้ามอุตสาหกรรม และนำเสนอโซลูชันสมาร์ทกรีนที่สร้างผลลัพธ์ด้าน ESG อย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่การกำหนดราคาคาร์บอนภายใน ไปจนถึงนวัตกรรมสีเขียว และการจัดงาน Delta ESG Forum เรามุ่งมั่นสร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างแท้จริง โดยการเสริมศักยภาพให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถปรับตัว ปฏิบัติตาม และเติบโตอย่างมีความรับผิดชอบในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว


นายวิคเตอร์ เจิ้ง ยังกล่าวถึงความสำเร็จของเดลต้าในการพัฒนาโซลูชันและผลิตภัณฑ์ประสิทธิภาพสูง ซึ่งช่วยลูกค้าทั่วโลกประหยัดพลังงานไฟฟ้าไปแล้วกว่า 52,000 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ระหว่างปี 2553 ถึง 2567 หรือเทียบเท่ากับปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยเกือบ 3 เดือน โดยความสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้จากความมุ่งมั่นของบริษัทในการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ นายวิคเตอร์ เจิ้ง ยังเน้นย้ำว่า ในฐานะผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และได้รับรางวัลระดับนานาชาติด้าน ESG เดลต้า ประเทศไทยพร้อมสนับสนุนธุรกิจไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายและมาตรฐาน ESG ระดับโลก ผ่านการวางกลยุทธ์ การส่งเสริมนวัตกรรม และเทคโนโลยีล้ำสมัยแห่งอนาคต

คุณโมน่า หยาง ผู้จัดการแผนกความยั่งยืนองค์กร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ อิงค์ นำเสนอความก้าวหน้าล่าสุดด้าน ESG ของบริษัท โดยในปี 2567 เดลต้าบรรลุอัตราการใช้พลังงานหมุนเวียนสูงถึง 84% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมาย RE80 ที่ตั้งไว้ล่วงหน้า 1 ปี อีกทั้งยังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 1 และ 2 ได้ถึง 53.6% ระหว่างปี 2564 ถึง 2567 นอกจากนี้ คุณโมน่า หยาง ยังได้นำเสนอแนวทางการดำเนินงานของเดลต้าในการกำหนดราคาคาร์บอนภายใน (Internal Carbon Pricing: ICP) ที่ 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO₂e) หนึ่งตัน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการอนุรักษ์พลังงานและพัฒนาความยั่งยืนภายในองค์กร โดยโครงการเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันเดลต้าให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ตามแนวทางของโครงการ Science Based Targets initiative (SBTi) 

นอกจากนี้ คุณคาร์ธิเกยัน อารุน ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานที่ปรึกษาด้าน ESG ของเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ อิงค์ ยังได้แนะนำกรอบการทำงานด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน 4 ขั้นของเดลต้า หรือ Delta’s 4-step Sustainability Transformation Framework อันประกอบด้วย การวางกลยุทธ์ (Strategize) การมีส่วนร่วม (Engage) การเสริมสร้างศักยภาพ (Enable) และการลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonize) ซึ่งภาคธุรกิจไทยสามารถนำมาใช้เป็นโรดแมปเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมไปถึงการดำเนินที่สอดคล้องกับมาตรฐาน ESG ระดับโลกได้ คุณคาร์ธิเกยัน อารุน ยังได้นำเสนอเครื่องมือช่วยสนับสนุนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของเดลต้าอีก 2 แบบ ได้แก่ ESG AI Service Portal และ DelZero Digital Platform โดย ESG AI Service Portal เป็นระบบที่ช่วยวิเคราะห์และรายงานผลข้อมูลเชิงลึกด้านความยั่งยืน ทั้งยังสามารถจัดลำดับความสำคัญของประเด็นด้านความยั่งยืนได้อย่างอัตโนมัติ ส่วน DelZero Digital Platform เป็นแพลตฟอร์มที่มีความสามารถในการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างอัจฉริยะ มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ครอบคลุม และมีระบบวิเคราะห์ขั้นสูงที่สามารถติดตามและตรวจสอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับผลิตภัณฑ์ได้ คุณคาร์ธิเกยัน อารุน ได้จบการนำเสนอด้วยการแสดงวิสัยทัศน์สู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย และบทบาทของเดลต้าในฐานะผู้สนับสนุนหลักของธุรกิจไทย 


หลังจากจบกิจกรรมในช่วงเช้า ผู้เข้าร่วมงานได้ถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยเพื่อหารือเกี่ยวกับวาระด้าน ESG ของประเทศไทยที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน โดยครอบคลุมสามเสาหลักของ ESG ดังนี้:

สิ่งแวดล้อม: หัวข้อ “แนวทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในประเทศไทย” ได้รับการอนุเคราะห์ข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การหารือนี้มุ่งเน้นหาแนวทางการลดการปล่อยคาร์บอนและสำรวจความคืบหน้าของโครงการพลังงานทดแทนในประเทศ

สังคม: หัวข้อ “การสร้างความหลากหลายในสถานที่ทำงานและผลกระทบต่อชุมชน” ได้รับการอนุเคราะห์จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การหารือนี้มุ่งศึกษาการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม ความเท่าเทียมของแรงงาน และบทบาทของธุรกิจในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ธรรมาภิบาล: หัวข้อ “การเปิดเผยข้อมูล ESG การกำกับดูแลความเสี่ยง และความรับผิดชอบทางกฎหมายขององค์กรไทย” ได้รับการสนับสนุนโดยพันธมิตรจาก PwC Thailand Sustainability and Climate Change การหารือนี้มุ่งส่งเสริมการสร้างธรรมาภิบาลในองค์กร การเตรียมความพร้อมต่อกฎระเบียบใหม่ ๆ และความโปร่งใสในการรายงานความคืบหน้าด้าน ESG

ในช่วงสุดท้ายของการประชุมได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน ผ่านการจัดการความท้าทายด้าน ESG” โดยรวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาควิชาการ มาร่วมสำรวจว่าเทคโนโลยี นโยบาย และความร่วมมือจะสามารถขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนได้อย่างไร งานเสวนาดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมเสวนาจากสี่ภาคส่วนหลัก ได้แก่ คุณอรทิพย์ อ้อทอง ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ดร.วิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล  รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายวรเวท ชลสินธุ์ ผู้อำนวยการบริหาร สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และ พ.ท. ดร.ต้องการ แก้วเฉลิมทอง ประธานคณะทำงานด้าน Transportation and Logistics ของสหพันธ์วิศวกรรมสถานแห่งอาเซียน (AFEO) โดยภายในงาน ผู้เสวนาได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการผสานนวัตกรรมเข้ากับเป้าหมายด้าน ESG ของประเทศและการขยายผลผ่านการผนึกกำลังกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ

งาน Delta ESG Forum 2025 ตอกย้ำความมุ่งมั่นของบริษัทในการยกระดับความเป็นเลิศด้าน ESG ผ่านความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ พร้อมจุดประกายความร่วมมือและกลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages