องค์กรต่อต้านความรุนแรงทางเพศชี้ ข่าว สว. ล่วงละเมิดทางเพศสะท้อนปัญหาการใช้ตำแหน่งทางการเมืองแสวงหาประโยชน์ - Thailand Times

Breaking



Post Top Ad

Saturday, 12 July 2025

องค์กรต่อต้านความรุนแรงทางเพศชี้ ข่าว สว. ล่วงละเมิดทางเพศสะท้อนปัญหาการใช้ตำแหน่งทางการเมืองแสวงหาประโยชน์

องค์กรต่อต้านความรุนแรงทางเพศชี้ ข่าว สว. ล่วงละเมิดทางเพศสะท้อนปัญหาการใช้ตำแหน่งทางการเมืองแสวงหาประโยชน์ทางเพศอย่างอุกอาจโดยไม่เกรงกลัวกฎหมายเรียกร้องวุฒิสภาเร่งสอบสวนเอาผิดทางจริยธรรม เชิญองค์กรเชี่ยวชาญภายนอกเข้าร่วม  หวังตัดวงจรรุนแรงทางเพศซ้ำซากในวงการเมือง


วันนี้ 12 กรกฎาคม 2568 ดร. วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวถึงกรณีนางสาวณัฐสินี ภิญโญปิยวิศว์ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการของวุฒิสภาและอดีตผู้ประกาศข่าว ออกมาให้ข่าวการแจ้งความดำเนินคดีและร้องเรียนให้มีการสอบสวนเอาผิดทางจริยธรรมต่อสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชายรายหนึ่ง กรณีที่ตนเองถูก สว. คนดังกล่าวล่วงละเมิดทางเพศ โดยล่าสุด ผู้เสียหายได้เผยแพร่หลักฐานเป็นคลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นว่าตนเองไม่ได้ยินยอมไปกับผู้ถูกกล่าวหาตามที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้าง


ดร. วราภรณ์ กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีกรณีที่ผู้เสียหายออกมาเปิดโปงว่าถูกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองล่วงละเมิดหรือแสวงหาประโยชน์ทางเพศอยู่หลายเหตุการณ์ สะท้อนถึงความล้าหลังทางจริยธรรมด้านเพศในแวดวงการเมืองไทยในภาพรวม “กรณีที่กำลังเป็นข่าวอยู่นี้ เป็นหนึ่งในหลายกรณีของการล่วงละเมิดและแสวงหาประโยชน์ทางเพศโดยผู้มีตำแหน่งในแวดวงการเมืองไทย กรณีเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ยังมีนักการเมืองจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่าตนเองสามารถใช้อำนาจที่มาจากตำแหน่งการเมืองกระทำการล่วงละเมิดหรือแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากผู้อื่นได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวกฎหมาย เพราะหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่า คนมีตำแหน่งและอำนาจ โดยเฉพาะตำแหน่งทางการเมือง ที่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมล่วงละเมิดหรือแสวงหาประโยชน์ทางเพศ มักไม่ถูกดำเนินการลงโทษอย่างจริงจัง ทั้งโดยกระบวนการยุติธรรมและการสอบสวนเอาผิดทางจริยธรรมโดยสถาบันการเมืองที่ตนสังกัดอยู่ และนักการเมืองเหล่านี้ยังอาจอ้างเอกสิทธิ์ในฐานะสมาชิกรัฐสภาเพื่อยืดระยะเวลาที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายได้ด้วย จึงเป็นที่มาของการเกิดความรุนแรงทางเพศซ้ำซากในแวดวงการเมืองไทย


“การที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าผู้เสียหายยินยอมไปกับตนเองจึงไม่นับเป็นการล่วงละเมิดทางเพศนั้น ยังเป็นความพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยอาศัยอคติในเรื่องเพศที่มีอยู่ในสังคมเป็นเกราะกำบังให้พ้นผิด ซึ่งถ้าเราดูความเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ จะเห็นว่าทุกวันนี้ยังมีความเห็นของคนในสังคมจำนวนหนึ่งที่สะท้อนวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ และพร้อมจะกล่าวโทษผู้เสียหายในคดีทางเพศโดยเฉพาะที่เป็นผู้หญิง เช่น กล่าวโทษว่าผู้เสียหายไม่ได้ต่อสู้ขัดขืนอย่างถึงที่สุดเท่ากับยินยอมพร้อมใจ หรือกล่าวหาว่าผู้หญิงไม่รู้จักระวังตัวเองเท่ากับเปิดช่องให้มีการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น ทั้งหมดนี้คืออคติทางเพศที่มุ่งยกประโยชน์ให้ผู้กระทำผิด และจะยิ่งส่งเสริมให้ผู้กระทำผิดย่ามใจเพราะเชื่อว่าสังคมจะเข้าข้างตนเอง


“ถ้าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมและรัฐสภาไม่ดำเนินการสอบสวนและลงโทษทั้งทางกฎหมายและจริยธรรมต่อนักการเมืองที่กระทำผิดทางเพศอย่างจริงจัง ก็เท่ากับเป็นการยอมรับและส่งเสริมให้นักการเมืองที่กระทำการละเมิดกฎหมายลอยนวลพ้นผิดได้” ดร. วราภรณ์ กล่าว

ด้าน นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า กรณีนี้ดูจากคลิปที่ผู้กระทำเอามาเป็นหลักฐานนั้น จะเห็นภาพของการบังคับลากขึ้นไปที่คอนโด เป็นการใช้สถานะความเป็นผู้มีตำแหน่งทางการเมืองและมีอำนาจเหนือกว่าร่วมกับการใช้กำลังบังคับ ซึ่งผิดทั้งกฎหมายและจริยธรรม เพราะวุฒิสภาเองก็มีระเบียบว่าด้วยจริยธรรมในเรื่องเพศอยู่ชัดเจน ทางองค์กรผู้หญิงมีข้อห่วงใยต่อกรณีความรุนแรงทางเพศดังกล่าว และขอเรียกร้องให้ประธานวุฒิสภาดำเนินการสอบสวนและลงโทษผู้กระทำผิดในกรณีดังกล่าวอย่างจริงจังและเร่งด่วน และวุฒิสภาในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดควรรับผิดชอบให้มีการชดเชยเยียวยา โดยเฉพาะด้านจิตใจและสังคม แก่ผู้เสียหายอย่างเป็นธรรมและเหมาะสม


“นอกจากมาตรการแก้ไขเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว หน่วยงานรัฐสภาควรมีมาตรการเชิงป้องกันปัญหาการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศด้วย โดยให้ความรู้และสร้างความตระหนักต่อประเด็นดังกล่าวแก่สมาชิกรัฐสภา เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดของรัฐสภา ควรเน้นย้ำมาตรฐานจริยธรรมในเรื่องเพศของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และจัดให้มีกลไกรับเรื่องร้องเรียนและสอบข้อเท็จจริงกรณีการคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศเป็นการเฉพาะ โดยผู้ปฏิบัติงานในกลไกดังกล่าวต้องมีความเข้าใจและละเอียดอ่อนต่อประเด็นการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ มีขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นธรรมเมื่อเกิดข้อร้องเรียน ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้เสียหาย ซึ่งควรให้องค์กรภาคนอกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้เข้าไปมีส่วนร่วม  ในกลไกดังกล่าว  เพื่อถ่วงดุลมิให้เป็นการตรวจสอบหรือดำเนินการที่มีแต่คนกันเอง  และต้องประชาสัมพันธ์กลไกดังกล่าวให้เป็นที่รับรู้อย่างทั่วถึงทั้งองค์กรด้วย” นายจะเด็จ กล่าว

 


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages