กรมลดโลกร้อน สผ. GIZ ม.รามคำแหง ร่วมกับเครือข่ายจังหวัดชุมพร จัดประชุมและเปิดตัวกิจกรรมบูรณาการภายใต้โครงการ CCMB
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2568 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (กรมลดโลกร้อน) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้จัดการประชุมในหัวข้อ “กิจกรรมบูรณาการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนในจังหวัดชุมพร” ภายใต้โครงการ Climate, Coastal and Marine Biodiversity (CCMB) ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมันผ่านกองทุน International Climate Initiative (IKI) โดยมี นายปวิศ เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ว่าที่ร้อยตรีกิตติภพ รอดดอน รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นาวาเอกชำนาญ สอนแพง รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) จังหวัดชุมพร นางสาวระเบียบ ภูผา ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นางสาวนุชนารถ ไกรสุวรรณสาร ผู้อำนวยการกลุ่มขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นางกตัญชลี ธรรมกุล ผู้อำนวยการกองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ (กลช.) นายวัลลภ ปรีชามาตย์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานขับเคลื่อนนโยบายและกลไก (สผ.) ดร.อังคณา เฉลิมพงศ์ ผู้อำนวยการโครงการ Climate, Coastal and Marine Biodiversity (CCMB) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน และ อาจารย์ ดร.วิชิน สืบปาละ กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล มหาวิทยาลัยรามคำแหง นายมรกต โจวรรณถะ หัวหน้าศูนย์ศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 1 (ชุมพร) ดร.อดิเรก มากผล IUCN, Thailand นายอำพล ธานีครุฑ นายกสมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดชุมพร นายปรีชา สุวีรานุวัฒน์ นายกสมาคมประมงปากน้ำหลังสวน นายวิสูตร บุนนาค ประธานกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งบ้านกลางอ่าว นายประมวล กล่อมดง กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายลนบ้านชุมโค อาจารย์และนักศึกษาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาชุมพร ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคมในระดับพื้นที่ รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม
การประชุมฯ ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อเผยแพร่ผลการคัดเลือกพื้นที่นำร่องทางทะเลและชายฝั่งของจังหวัดชุมพรที่มีศักยภาพในการเตรียมการประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์นอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (OECMs) รวมทั้งส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน หรือการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
พื้นที่นำร่องที่นำเสนอ ได้แก่ กลุ่มเกาะร้านเป็ด-ร้านไก่, อ่าวบางสน-อ่าวน้ำเมา-กองหินสามเหลี่ยม, และกลุ่มหาดคอเขา-บ้านละแม ซึ่งจะได้รับการจัดทำแผนบริหารจัดการแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นและชุมชน
ผู้เข้าร่วมการประชุมได้ปรึกษาหารือร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 80 คน และได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับบทบาทของภาคประชาชนในคณะทำงานระดับพื้นที่ ความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่ OECMs และความเชื่อมโยงกับการจัดการพื้นที่ทางทะเลระดับท้องถิ่น (LMMA)
การประชุมครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการ CCMB ในพื้นที่จังหวัดชุมพร โดยมีเป้าหมายเพื่อ
1) สนับสนุนการเตรียมความพร้อมเพื่อประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์นอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (OECMs) และจัดทำแนวทางการบริหารจัดการเชิงพื้นที่เพื่อคุ้มครอง อนุรักษ์ และติดตามตรวจสอบระบบนิเวศทางทะเล และชายฝั่ง;
2) ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนที่เชื่อมโยงกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ;
3) ประยุกต์ใช้การแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based solutions) เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ;
4) ส่งเสริมการติดตามตรวจสอบระบบนิเวศและวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง (citizen science) เพื่อสนับสนุนการบูรณาการประเด็นด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน;
5) ส่งเสริมการบูรณาการระหว่างหน่วยงานและภาคส่วน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งมีความอุดมสมบูรณ์ หลากหลาย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้รับการคุ้มครองผ่านการจัดตั้งพื้นที่อนุรักษ์นอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (OECMs) ชุมชนท้องถิ่นมี ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
No comments:
Post a Comment