เครือข่ายภาคประชาสังคม เครือข่ายเยาวชน นักวิชาการ ร่วมยื่น 20,000 รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสนอร่าง พรบ.กัญชา กัญชง ฉบับภาคประชาชน หวังยุติภาวะเสรีกัญชา ปกป้องเด็ก เยาวชน กลุ่มเปราะบาง ฟื้นคืนภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ
วันพุธที่ 28 พฤษภาคม 2568 เวลา 11.00 น. ณ อาคารรัฐสภา(เกียกกาย) เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เครือข่ายความร่วมมือภาคประชาสังคมทีประกอบด้วย แกนนำชุมชนภาคประชาชนเยาวชนนักวิชาการ และอดีตข้าราชการ กว่า 30 คน ได้ขอเข้าพบประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยื่น 20,283 รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสนอร่างพระราชบัญญัตงพระราชบัญญัติกัญชากัญชงพ.ศ. ..... โดยมีนายวัชรพงศ์ พุ่มชื่น กรรมการและเลขานุการมูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด เป็นตัวแทนมอบรายชื่อ โดยมี นายธงชาติ รัตนวิชา เลขานุการประธานสภา เป็นผู้แทนประธานสภาฯ รับรายชื่อ
นายวัชรพงศ์ พุ่มชื่น กรรมการและเลขานุการมูลนิธิศูนย์วิชาการสารเสพติด กล่าวว่าอีก 12 วัน จะครบรอบ 3 ปี คือ วันที่ 9 มิถุนายน 2565 จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยกำหนด “ทุกส่วนของกัญชา” ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด และรัฐสภาได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 โดยมีสาระสำคัญคือ การถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด หรืออาจกล่าวได้ว่า วันที่ 9 มิถุนายน 2565 คือ การประกาศเสรีกัญชาและไม่มีกฎหมาย หรือ มาตราการในการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ไม่เหมาะสม
“ประชาชนคนไทยอยู่กับสถานการณ์เสรีกัญชามากกว่า 3 ปี มีประชาชนที่ได้ประโยชน์จากกัญชา และใขณะเดียวกันมีประชาชนอีกมากมายที่ได้รับผลกระทบจากเสรีกัญชา เพราะในข้อเท็จจริงจากการศึกษาวิจัยของนักวิชาการทั้งในประเทศ และต่างประเทศ อีกทั้งจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย พบว่ามีผู้ประกอบการจำหน่ายช่อดอกกัญชาเชิงนันทนาการ การเสพกัญชามีสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท การใช้กัญชาเกินความจำเป็นนั้น ส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาการใช้กัญชาในกลุ่มเด็กเยาวชนที่ทุกวันนี้หาซื้อได้ง่าย และใช้กัญชาผสมกับสารเสพติดประเภทอื่น ส่งผลให้เกิดปัญหาการเสพติด และบางคนกลายเป็นผู้ป่วยจิตเวช ภาพปรากฎการณ์กัญชาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนคนไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ขณะเดียวกันในแทบทุกวันมีข่าวที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวซึ่งเกี่ยวข้องกับกัญชาทั้งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม การถูกดำเนินคดีในต่างประเทศ รวมไปถึงภาพลักษณ์ของประเทศที่กำลังเสียหาย จากการกลายสภาพเป็นแหล่งอบายมุขแทบทุกรูปแบบ เป็นแหล่งรวมของนักท่องเที่ยวด้อยคุณภาพซึ่งจุดนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ดังนั้น ถึงเวลาที่ควรต้องมีกฎหมายที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันและลดผลกระทบจากการใช้กัญชาในทางที่ผิด ไม่ทำให้ประเทศไทยเสียหายในสายตาของชาวโลก” นายวัชรพงศ์ กล่าว
นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักวิชาการด้านกฎหมายที่ร่วมเสนอรายชื่อ กล่าวถึง สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. .... ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เน้นเรื่องการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ไม่ส่งเสริมการขายกัญชาหรือการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ มีคณะกรรมการกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานกรรมการ มีหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตเกี่ยวกับกัญชาที่แยกออกจากกรณีใบอนุญาตกัญชง ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองเด็กเยาวชน มีมาตรการการป้องกันและควบคุมการใช้กัญชาไม่เหมาะสม การควบคุมการโฆษณา สื่อสารการตลาดกัญชาหรือผลิตภัณฑ์กัญชา การส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การปรับปรุงพันธุ์กัญชาที่มีคุณภาพ สถานพยาบาลสามารถเพาะปลูกกัญชาเพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้ ผู้ป่วยสามารถเพาะปลูกกัญชาได้ถ้าปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
No comments:
Post a Comment