สำนักงาน คปภ. และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เดินหน้าป้องปรามการฉ้อฉลประกันภัย หลังพบการจัดฉากเคลมค่าสินไหมทดแทนรวมกว่า 14 ล้านบาท - Thailand Times

Breaking



Post Top Ad

Friday, 14 March 2025

สำนักงาน คปภ. และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เดินหน้าป้องปรามการฉ้อฉลประกันภัย หลังพบการจัดฉากเคลมค่าสินไหมทดแทนรวมกว่า 14 ล้านบาท

 สำนักงาน คปภ. และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เดินหน้าป้องปรามการฉ้อฉลประกันภัย

หลังพบการจัดฉากเคลมค่าสินไหมทดแทนรวมกว่า 14 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานงานแถลงข่าว ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยนายสมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กรณีพบว่ามีกลุ่มบุคคลวางแผนจัดทำประกันภัยรถยนต์หลายฉบับ และสร้างสถานการณ์อุบัติเหตุทางรถยนต์ เพื่อนำไปสู่การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนรวมมูลค่ากว่า 14 ล้านบาท ตามที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่าง ๆ นั้น


จากการตรวจสอบพบว่า รถกระบะ 3 คันที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว มีกรมธรรม์ประกันภัยซ้ำซ้อนรวม 34 ฉบับ จากบริษัทประกันภัย 15 แห่ง โดยกรมธรรม์ส่วนใหญ่จัดทำขึ้นภายใน 10 วัน ก่อนเกิดเหตุ และบางฉบับทำขึ้นในวันเกิดเหตุ นอกจากนี้ ไม่มีการแจ้งเหตุไปยังบริษัทประกันภัยทั้ง 15 แห่งในวันเกิดเหตุ และไม่พบรายงานการเข้าตรวจสอบจากหน่วยกู้ชีพ ขณะที่ลักษณะบาดแผลของผู้เสียชีวิตไม่สอดคล้องกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น อีกทั้งญาติของผู้เสียชีวิตไม่ได้ติดใจสาเหตุการเสียชีวิตและปฏิเสธการชันสูตรพลิกศพ ความร้ายแรงที่เกิดขึ้นจึงอาจเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัย เพราะถือเป็นกรณีที่ไม่เคยได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติการณ์ในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนโดยมีเจตนาทุจริตจากการทำประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พ.ร.บ.) และกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจหลายฉบับซ้ำซ้อนกันดังเช่นกรณีนี้มาก่อน โดยเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2568 สำนักงาน คปภ. ได้หารือร่วมกับบริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้อง และมีมติให้แจ้งความร้องทุกข์ต่อสถานีตำรวจภูธรเมืองสกลนคร ในข้อหาฉ้อฉลประกันภัย ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญา

 

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน คปภ. ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบการป้องกันการฉ้อฉลประกันภัย โดยได้พัฒนาและจัดทำระบบฐานข้อมูลรายงานการฉ้อฉลด้านการประกันภัยด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อช่วยตรวจจับพฤติกรรมที่น่าสงสัย อาทิ การทำประกันภัยซ้ำซ้อนในระยะเวลาสั้น ๆ หรือการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยด้วยรถยนต์ทะเบียนเดียวกันสูงผิดปกติ ภายในระยะเวลา 90 วัน หรือตรวจพบการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนบ่อยครั้งในช่วงระยะเวลา 90 วันเป็นต้น ซึ่งเมื่อระบบดังกล่าวตรวจพบความผิดปกติ จะมีการแจ้งเตือนให้ทราบทันที และจะมีการเรียกบริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือก่อนดำเนินการในลักษณะเช่นเดียวกับกรณีนี้ โดยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถปรับเงื่อนไขการตรวจจับการฉ้อฉลประกันภัยได้ตลอดเวลา เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการติดตามและดำเนินคดีกับกลุ่มผู้กระทำความผิด โดยสำนักงาน คปภ.จะส่งสำนวนให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้   การกำกับของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเป็นผู้ดำเนินคดี หรือแจ้งความร้องทุกข์ต่อสถานีตำรวจที่มีเขตอำนาจ โดยดำเนินคดี ฉ้อฉลประกันภัยไปแล้วกว่า 46 คดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 50 ล้านบาท และเตรียมดำเนินการเพิ่มเติมอีก 21 คดี

 

“สำนักงาน คปภ. มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง ควบคู่กับการป้องกันการฉ้อฉลประกันภัย โดยจะมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลรายงานการฉ้อฉลด้านการประกันภัย ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อใช้ตรวจจับกรณีที่มีความผิดปกติให้มีประสิทธิภาพ แม่นยำ และรวดเร็วได้แบบ Real Time แต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการคุ้มครองประชาชนที่มีการเรียกสินไหมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages