สจล. เปิดศูนย์วิจัยนวัตกรรมด้านเซมิคอนดักเตอร์ “KAISEM”ครบวงจรแห่งแรกในไทย - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Wednesday, 21 August 2024

สจล. เปิดศูนย์วิจัยนวัตกรรมด้านเซมิคอนดักเตอร์ “KAISEM”ครบวงจรแห่งแรกในไทย

 สจล. เปิดศูนย์วิจัยนวัตกรรมด้านเซมิคอนดักเตอร์ “KAISEM”ครบวงจรแห่งแรกในไทย 

พร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายสู่การพัฒนาประเทศ เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนา ครบรอบ 64 ปี

เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา ครบรอบ 64 ปี ก้าวเข้าสู่ปีที่ 65 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดตัวศูนย์ “KMITL Academy of Innovative Semiconductor” (KAISEM) ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ที่ครบวงจรแห่งแรกในประเทศ เนื่องในโอกาสครบรอบ 64 ปี ซึ่งศูนย์ KAISEM จะทำหน้าที่เป็นห้องปฏิบัติการกลาง (Central Laboratory) ที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขามาร่วมมือกันในการทำวิจัย นวัตกรรมด้านเซมิคอนดักเตอร์ รวมทั้งกระบวนการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ และพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เซมิคอนดักเตอร์ของไทย ซึ่งเป็นหัวใจของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ และเป็นศูนย์กลางในการศึกษาและพัฒนาบุคลากร นำ สจล.มุ่งสู่การเป็นผู้นำนวัตกรรมระดับโลก หรือ The Word Master of Innovation อย่างยั่งยืน พร้อมสร้างความร่วมมือกับบริษัท  National Instruments Singapore ซึ่งเป็นบริษัทด้านวิศวกรรมชั้นนำระดับโลก ในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการร่วมกัน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนภารกิจของศูนย์ KAISEM ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ บริหารองค์กรอย่างบูรณาการและยั่งยืน มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางด้านการศึกษาตามแนวทาง Global Leaning และ Global Citizen ภายในปี 2569 ส่งเสริมให้เกิดการผลิตบัณฑิตที่มีสมรรถนะสูง ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม รองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ยกระดับการพัฒนาประเทศไปสู่ยุค “ไทยแลนด์ 4.0”  ในพื้นที่ตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง 

รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)  กล่าวว่า การดำเนินนโยบายขององค์กรมุ่งการทำงานให้เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ตัวชี้วัด 5 Global Index ในการขับเคลื่อนงานของสถาบันด้านวิชาการ งานด้านวิจัย และนวัตกรรม งานบริการสังคม ซึ่งประกอบด้วย Global Citizen ที่เน้นหลักสูตรทันสมัย, Global Innovation ยกระดับคุณภาพงานวิจัยและนวัตกรรมสู่ระดับแนวหน้า, Global Learning สร้างวิทยาเขตชุมพรฯ และพื้นที่สถาบันที่ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ครบวงจรร่วมกับชุมชนด้านเกษตรอัจฉริยะ, Global Infrastructure สร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียนและการทำงาน และGlobal Management มุ่งให้มีระบบการบริหารจัดการภายในสถาบันที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ด้วยการบริหารงานด้วยข้อมูล โดยแผนบริหารทั้ง 5 Global Index ได้กำหนดกระบวนการที่เรียกว่า KMITL Readiness Level (KRL) มีเป้าหมายในระยะเวลา ปี พ.ศ.2567- 2569 


โดยตลอด 64 ปีที่ผ่านมา สจล. ได้สร้างชื่อเสียงในด้านการศึกษาและการพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์ เช่น วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมระบบการผลิต และวิศวกรรมวัสดุ รวมทั้ง สจล. ได้มีการศึกษาวิจัยที่ยาวนานเกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบบวงจรรวม การพัฒนาอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ หรือการออกแบบแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ที่ประยุกต์ใช้งานในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับภาคเอกชน มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยชั้นนำจากทั่วโลก เช่น ไต้หวัน ประเทศญี่ปุ่น และสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จึงมีความพร้อมในการที่จะเป็นผู้นำด้านเซมิคอนดักเตอร์และจัดตั้งศูนย์ “KMITL Academy of Innovative Semiconductor Manufacturing” (KAISEM) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาหลักสูตรเฉพาะทางและเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาในการก้าวสู่อนาคตที่เต็มไปด้วยความท้าทายของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เชื่อมโยงภาคการศึกษาและอุตสาหกรรมเพื่อให้บริการวิชาการที่ครอบคลุมและตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก


รองศาสตราจารย์ ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า  ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้พัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหลักสูตรของภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่พร้อมผลิตบุคลากรคุณภาพรองรับตำแหน่งงานด้านเซมิคอนดักเตอร์ จากความร่วมมือจากบริษัทชั้นนำกว่า 11 องค์กร ทำให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. มีห้องปฏิบัติการด้านเซมิคอนดักเตอร์และสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย สนับสนุนให้เกิดศูนย์กลางการผลิตบุคลากรในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศไทย   


นอกจากนี้ คณะยังได้เสนอแนวทางการเรียนไปพร้อมกับการทำงาน (WIL) ซึ่งช่วยให้บุคลากรพร้อมเข้าสู่ตลาดงานได้ทันทีและลดระยะเวลาในการรอให้กับภาคอุตสาหกรรม ภายในงานการเปิดศูนย์ KAISEM ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างสถาบันฯ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ บริษัท National Instruments Singapore ซึ่งเป็นบริษัทด้านเซมิคอนดักเตอร์ ชั้นนำระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบทดสอบและวัดผลอัตโนมัติ และมีการให้บริการในหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ อากาศยาน อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม มาช่วยยกระดับการเรียนการสอนและการวิจัยของคณะ ให้ก้าวสู่ระดับสากล


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิภู ศรีสืบสาย รักษาการแทนคณบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ สจล. กล่าวว่า ทั้งในอดีตและปัจจุบัน สจล. ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรม โดยเป็นผู้ให้บริการงานด้านวิชาการกับทั้งภาครัฐและเอกชนจนเป็นที่ยอบรับมาอย่างยาวนาน  รวมทั้งวิทยาลัยฯ เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ มีองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมวัสดุ (Material Engineering) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ การเปิดศูนย์ KAISEM ครั้งนี้ จึงนับเป็นอีกก้าวหนึ่งของความสำเร็จ ซึ่งในพิธีเปิดศูนย์ยังจัดให้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU)  ระหว่างสองฝ่าย โดยมีสาระสำคัญ ประกอบด้วย การค้นหาและสร้างความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ กลุ่มวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ การเข้าร่วมในโครงการวิศวกรรมเชิงนวัตกรรมของสถาบัน การเข้าร่วมการประชุมวิศวกรรมนานาชาติ เช่น การประชุม IEEE  ในโครงการความร่วมมือเฉพาะและจะยืนยันโครงการเหล่านั้นผ่านการสรุปข้อตกลงเพิ่มเติม ซึ่งมีระยะเวลา 12 เดือนนับจากวันที่ลงนาม และจะต่ออายุโดยอัตโนมัติเป็นระยะเวลา 12 เดือนต่อไป เว้นแต่จะมีการแจ้งยกเลิกโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง


รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรพล ภคศิริ รักษาการแทนคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง สจล. กล่าวว่า  ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย จากไต้หวัน ประเทศญี่ปุ่น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และประเทศอื่น ๆ ที่ศูนย์ KAISEM กำลังดำเนินงานอยู่ จะเป็นส่วนช่วยในการส่งเสริมงานวิจัยขั้นสูง ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมที่เป็นที่ยอมรับ โดยการสร้าง Central Laboratory ด้านเซมิคอนดักเตอร์ และการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ และจะเป็นศูนย์รวบรวมผู้เชี่ยวชาญ ที่จะสร้างงานวิจัยขั้นสูงเกี่ยวกับเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ และ PCB สามารถทำการออกแบบ ทำต้นแบบ และการทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้น 1 อาคาร 55 พรรษาฯ มีภารกิจในงานบริการด้านวิชาการ รวมถึงการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาและการฝึกอบรม ทั้งนี้เพื่อให้บริการได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล

การก้าวเข้าสู่ปีที่ 65 ของ สจล. ไม่เพียงแต่เป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จที่ผ่านมา แต่ยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตที่เต็มไปด้วยโอกาสและความท้าทาย ศูนย์ KAISEM เป็นสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ และเป็นการยืนยันถึงบทบาทของ สจล. ในการเป็น The World Master of Innovation พร้อมนำประเทศไทยเข้าสู่ยุคใหม่ของนวัตกรรมและเทคโนโลยี


ติดตามความเคลื่อนไหวอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ทาง https://www.facebook.com/kmitlofficial  และเว็บไซต์ https://www.kmitl.ac.th  และติดตามรายละเอียดหลักสูตรที่เปิดสอนได้ที่  https://curriculum.kmitl.ac.th/ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8000








No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages