กรมการทหารช่าง จับมือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเชิงรุก ด้วยวิธีเก็บตัวอย่างด้วยตนเองตั้งเป้าผู้หญิงของคนในค่าย ปลอดมะเร็งปากมดลูก - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Wednesday 19 June 2024

กรมการทหารช่าง จับมือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเชิงรุก ด้วยวิธีเก็บตัวอย่างด้วยตนเองตั้งเป้าผู้หญิงของคนในค่าย ปลอดมะเร็งปากมดลูก

จ.ราชบุรี/กรมการทหารช่าง จับมือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเชิงรุก

ด้วยวิธีเก็บตัวอย่างด้วยตนเองตั้งเป้าผู้หญิงของคนในค่าย ปลอดมะเร็งปากมดลูก

วันนี้13 มิ.ย. 2567เวลา13.30น. ที่สโมสรนายทหาร ค่ายภาณุรังษี กรมการทหารช่าง จังหวัดราชบุรี นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กรมการทหารช่าง และสมาคมแม่บ้านทหารบก ในการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเชิงรุกด้วย HPV Self-sampling เพื่อลดการเกิดมะเร็งปากมดลูก เป้าหมายสูงสุดให้ “ผู้หญิงของคนในค่าย ปลอดมะเร็งปากมดลูก” ร่วมกับ พล.ท.มนิต ศิริรัตนากูล เจ้ากรมการทหารช่าง และ นางฐิรชญา ศิริรัตนากูล ประธานสมาคมแม่บ้านทหารบก สาขากรมการทหารช่าง ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเชิงรุกด้วยวิธีเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง (HPV Self-sampling) และการอภิปราย กลวิธีป้องกันและลดการเกิดมะเร็งปากมดลูก เพื่อผู้หญิงของคนในค่าย โดย นางศิริวรรณ ชัยสมบูรณ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสมุนไพร นางปานทิพย์ ศิริโชติ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม นายอัศวชัย ช่วยพรหม ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์  แพทย์หญิงปาจรีย์ อารีย์รบ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี ร่วมงาน


นายแพทย์ยงยศ กล่าวว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมาก 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อย ในผู้หญิงไทย สาเหตุสำคัญมาจากการติดเชื้อเอชพีวี ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ และมากกว่าร้อยละ 90 จะหายได้เอง มะเร็งปากมดลูกป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนเอชพีวี นอกจากนี้การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้สตรีไทย ที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก 5 ปี ที่ผ่านมาพบว่าหญิงไทยกลุ่มเป้าหมาย เข้ารับการตรวจคัดกรองได้น้อย ส่วนหนึ่งมาจากการไม่มารับการตรวจภายในเนื่องจากเขินอายแพทย์ โดยในพื้นที่จังหวัดราชบุรี มีเป้าหมายที่ต้องได้รับการคัดกรอง จำนวนประมาณ 200,000 ราย ปัจจุบันได้รับการคัดกรองแล้วประมาณ 40,000 ราย ดังนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงเพิ่มทางเลือกให้หญิงไทย ที่ไม่เข้ารับการตรวจคัดกรองให้สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ง่ายขึ้น โดยใช้ชุดเก็บตัวอย่าง ด้วยตนเอง (HPV Self-Sampling) โดยบูรณาการทำงานเชิงรุกร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงภายในกรมการทหารช่าง (ค่ายภาณุรังษี) จังหวัดราชบุรี ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 


โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม ได้ร่วมกับกรมการทหารช่าง สมาคมแม่บ้านทหารบก สาขากรมการทหารช่าง ดำเนินการเตรียมความพร้อมบริการประชาชน และกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกำลังพลหรือครอบครัวที่เป็นหญิงไทยอายุ 30 - 60 ปี เพื่อให้ได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็ง หรือหากตรวจพบมะเร็งก็สามารถพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรกทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างรวดเร็ว เพิ่มโอกาสในการรักษาหายขาดได้


พล.ท.มนิต กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมทหารช่างราชบุรี เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงกลาโหมที่มีทั้งกำลังพลที่เป็นผู้หญิง และครอบครัวของกำลังพลที่เป็นผู้หญิง การที่ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเชิงรุกด้วย HPV Self-sampling เป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก ทหารทุกนายที่เป็นผู้รับผิดชอบได้ร่วมมือกัน เพื่อค้นหา ชักชวนกลุ่มเป้าหมายให้เข้ามาคัดกรองให้ได้มากที่สุดโดยมีการประยุกต์ใช้กลยุทธ์ทางการทหาร มาต่อสู้เพื่อคาดหวังว่าจะหยุดโรคมะเร็งปากมดลูกให้ได้ เป้าหมายสูงสุดให้ “ผู้หญิงของคนในค่าย ปลอดมะเร็งปากมดลูก” จะช่วยให้ผู้หญิงของคนในค่ายไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากมะเร็งปากมดลูก เพราะหากตรวจพบในระยะเริ่มแรก จะแก้ปัญหาได้ทันที และกลับมามีชีวิตได้ปกติสุข เหมือนคนทั่วไป นอกจากนี้ ช่วยลดการสูญเสียหญิงผู้เป็นแม่จากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรทำให้ในครอบครัวยังอยู่พร้อมทั้งพ่อและแม่ช่วยกันเลี้ยงดูให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ช่วยเสริมสร้างการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศชาติในอนาคต 


นางฐิรชญา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะประธานสมาคมแม่บ้านทหารบก สาขากรมการทหารช่าง บันทึกข้อตกลงร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเชิงรุกด้วย HPV Self-sampling นี้ ทำให้เหล่าแม่บ้านทหารบก มีความมั่นใจ สบายใจ ซึ่งภาคีเครือข่ายผู้รับผิดชอบงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม กรมการทหารช่าง สมาคมแม่บ้านทหารบก สาขากรมการทหารช่าง รวมถึง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี โรงพยาบาลค่ายภาณุรังษี โรงพยาบาลโพธาราม ได้ร่วมกันวางกลวิธีป้องกันและลดการเกิดมะเร็งปากมดลูก เพื่อผู้หญิงของคนในค่าย ไว้เรียบร้อย โดยกระบวนการเริ่มจากการอบรมให้ความรู้กับ อสม. และผู้รับผิดชอบงานให้มีความรู้เรื่องโรคมะเร็งปากมดลูก การป้องกันและการรักษา การคัดกรองเชิงรุกด้วย HPV Self-Sampling โดยทีมวิทยากรของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม เมื่อกลุ่มเป้าหมายได้รับความรู้และเก็บตัวอย่าง โรงพยาบาลค่ายภาณุรังษีจะเป็นหน่วยเก็บรวบรวมตัวอย่าง ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงครามจัดรถมารับตัวอย่างนำไปตรวจวิเคราะห์ หากผลที่ได้ต้องดำเนินการตรวจยืนยันด้วยการส่องกล้องก็จะดำเนินการโดยสูตินรีแพทย์โรงพยาบาลโพธาราม โดยจะมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี เป็นหน่วยที่คอยสนับสนุนการดำเนินงานเชิงระบบในภาพรวมของจังหวัด เพื่อให้ผู้หญิงของคนในค่ายเข้าสู่การตรวจคัดกรอง วินิจฉัยที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้เข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็วขึ้น ลดการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก


เปรมพิมล/รายงาน 

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages