คลอดแล้ว! คู่มือ 2 ฉบับ ไกด์ไลน์แนวทางช่วยเหลือผู้เสียหาย/ปชช. ทั่วไป และทีมทำงานสหวิชาชีพช่วยเหลือเป็นมิตรและเป็นธรรม
"สุเพ็ญศรี" เผยผนึกกำลัง สสส. - พก. เคี่ยวประสบการณ์ทำงานช่วยเหลือผู้เสียหายเผชิญเหตุความรุนแรงเพศ ครอบครัว คนพิการ ด้อยโอกาส ถอดเป็นบทเรียนแนวทางทำงาน ปูทางสร้างความเข้าใจการเข้าถึงบริการสิทธิตามกระบวนการกฎหมาย- ยุติธรรม ด้าน"อธิบดีพก."ชี้ชัดบริการที่เป็นมิตรต้องจับมือกันมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน หนุนรัฐ/เอกชน สร้างสิ่่งแวดล้อมอารยสถาปัตย์บริการเข้าถึงเท่าเทียมเรื่องสำคัญ
เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2567 มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม (มสส.) ร่วมกับ สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9 ) สสส. และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) จัดเวทีนำเสนอร่างคู่มือการทำงานสำหรับทีมวิชาชีพ ในการบริการช่วยเหลือที่เป็นมิตรและเป็นธรรมต่อผู้เสียหาย และคู่มือสำหรับผู้เสียหาย / ประชาชนทั่วไป
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ(สำนัก 9 ) สสส.กล่าวว่า การจัดทำคู่มือทั้ง 2 ฉบับ ประกอบด้วย 1 .คู่มือสำหรับผู้เสียหาย/ประชาชนทั่วไป 2 คู่มือการทำงานสำหรับทีมสหวิชาชีพในการบริการช่วยเหลือที่เป็นมิตรและเป็นธรรมต่อผู้เสียหาย มีแนวคิดจากประสบการณ์การทำงานของมูลนิธิมสส.ในการบริการช่วยเหลือผู้เสียหายจำนวนหนึ่งเห็นลักษณะของปัญหาและความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ผ่านกระบวนการทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพในการบริการช่วยเหลือที่เป็นมิตรและเป็นธรรมต่อผู้เสียหาย
"ประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากคู่มือทั้งสองฉบับนี้ คือ“คู่มือสำหรับผู้เสียหาย/ประชาชนทั่วไป” ให้ความสำคัญกับ (1) การป้องกันก่อนเกิดความเสียหาย (2) สิ่งที่ผู้เสียหายต้องทำเมื่อถูกกระทำ (3) กระบวนการให้ความช่วยเหลือ สิทธิและความเป็นธรรมที่ผู้เสียหายพึงได้รับ และ (4) ข้อคิดเห็นเมื่อเกิดความเสี่ยง หรือเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น โดยมีตัวอย่างจากกรณีศึกษาดังนั้น คู่มือผู้เสียหายจึงมีประโยชน์ต่อประชาชนทุกคนในการช่วยลดความเสี่ยงต่อการถูกกระทำรุนแรงฯ และเป็นแนวทางให้ผู้เสียหายนำไปใช้ในการเข้าถึงสิทธิ และได้รับความเป็นธรรม ตั้งแต่เบื้องต้นจนสามารถผ่านพ้นได้" นางภรณี ระบุ
เธอระบุด้วยว่า สำหรับ “คู่มือการทำงานสำหรับทีมสหวิชาชีพในการบริการช่วยเหลือที่เป็นมิตรและเป็นธรรมต่อผู้เสียหาย” นับเป็นบทบาทการทำงานร่วมกันของสหวิชาชีพ เน้นการทำงานแบบไม่จำกัดขอบเขต แต่เป็นการสร้างมีส่วนร่วมในการระดมทรัพยากร หรือสรรพกำลังมาใช้ให้ผู้เสียหายออกจากปัญหาและยืนได้ด้วยตัวเอง โดยมีตัวอย่างจากกรณีศึกษา
"ดังนั้นคู่มือการทำงานสำหรับทีมสหวิชาชีพฯ ฉบับนี้ จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สนับสนุนการทำงานร่วมกันของหลากหลายสาขาวิชาชีพ แสดงให้เห็นการทำงานในลักษณะการระดมกำลัง ทรัพยากร มาช่วยเหลือผู้เสียหายที่มีประสิทธิภาพ ก้าวข้ามข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้เสียหาย คู่มือนี้จึงมีความสำคัญต่อแนวทางในการทำงานร่วมกันของทีมสหวิชาชีพ" นางภรณี ระบุ
ขณะที่ น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผอ.มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม (มสส.) ระบุด้วยว่า การนำบทเรียน ประสบการณ์จากการทำงานของมูลนิธิมาเขียนเป็นคู่มือ เพื่อให้ผู้เสียหายตลอดจนครอบครัว ได้มองเห็นเส้นทางในการแก้ปัญหา หรือต่อสู้คดี เป็นไกด์ไลน์ ในการรับมือกับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ ในเรื่องความรุนแรงเรื่องเพศ ครอบครัว หรือคนพิการด้อยโอกาส โดยการทำงานของอาสาสมัคร หรือ ทีมทนาย นำบทเรียน หรือชุดประสบการณ์ ของเคสต่างๆที่สำคัญ น่าสนใจและเป็นประโยชน์ กับทีมมาร่วมกันถอดบทเรียน ถือเป็นคู่มือสำหรับผู้เสียหาย ที่ได้ทำความเข้าใจกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงขั้นศาล ทั้งในเรื่องสิทธิ การร้องทุกข์ สอบสวน ขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมในความผิดเกี่ยวกับเพศ
"ในกระบวนการยุติธรรม มีหลายหน่วยงาน/องค์กร/บุคลากร ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ จึงจำเป็นต้องเข้าใจขั้นตอนในการดำเนินการเพื่อเป็นประโยชน์ ขณะเดียวกัน ยังเป็นข้อควรรู้ หรือ แนวทางเดินหน้า จากชุดประสบการณ์ ซึ่งเป็นคำถาม คำตอบ ที่เกิดขึ้นบ่อยจากผู้เสียหายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ที่มสส.ได้ตอบคำถามดังกล่าวให้ผู้เสียหายหรือผู้ใกล้ชิดผู้เสียหายได้ทราบ รวมทั้งกระบวนการเอ็มพาวเวอร์เมนท์ ของผู้เสียหายว่าสามารถอยู่กับการต่อสู้ กับเหตุการณ์ในระหว่างกระบวนการคดี อย่างไรซึ่งหลายเคสที่ยาวนานมา เขารับมืออย่างไร หรือผู้ทีผ่านพ้นปัญหามานำชุดประสบการณ์มาเสริมสร้างพลังให้คนอื่นๆ ที่เป็นรูปธรรมทำงานส่งต่อพลัง หรือ ปลุกปลอบใจช่วยเหลือกัน " ผอ.มูลนิธิ มสส. ระบุ
ผอ.มูลนิธิ มสส. ระบุด้วยว่า สำหรับคู่มือการทำงานทีมสหวิชาชีพ ในบางเคสที่เขาไม่เคยเจอ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างต่ออย่างไร ก็จะมีการยกเคสขึ้นมา มีผู้เชี่ยวชาญและมีแนวทางการทำงาน เพื่อแก้ไข คลี่คลายอย่างไร เช่น ในมิติเพศสภาพ การดำเนินคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ต้องเข้าใจในเรื่องเพศสภาพที่แตกต่าง หรือในส่วนชาติพันธุ์ จะต้องมีล่าม ซึ่งจะต้องมีการจัดบริการ หรือคนหูหนวกที่เขาถูกกระทำความรุนแรง เหล่านี้จะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เขาได้รับการเข้าถึงการช่วยเหลืออย่างเป็นมิตรและเป็นธรรม โดยไม่ต้องสูญเสียโอกาส
ด้านนายกันตพงศ์ รังษีสว่าง อธิบดี พก.ระบุว่า ทำงานมาตรการป้องกันความรุนแรง ทั้งหลักการด้านกฎหมาย คุ้มครอง ป้องกัน โทษความผิด คนในครอบครัว ด้อยโอกาส ขณะที่ในส่วนของนโยบายถือเป็นแนวทางของครอบครัวเข้มแข็ง รวมถึงมาตรการทางสังคม ปรับปรุงเปลี่ยนพฤติกรรม ของคนในครอบครัว เช่น เลิกพฤติกรรมกระทำความรุนแรง หรือยังรวมไปถึงการทำงานในพื้นที่ เข้าควบคุม ป้องกัน ระงับ พิทักษ์สิทธิ์ โดยมีการทำงานแบบเครือข่าย อาสาสมัคร ในบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือ อปท.ในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ
อธิบดี พก.ระบุด้วยว่า แนวทางการทำงานสหวิชาชีพของ พม.ซึ่งเป็นบุคลากรของ พม.ผู้เชี่ยวชาญ เข้าร่วมกันทำงาน ซึ่งมีการทีมซัพพอร์ต ชุดเคลื่อนที่เร็ว ตามแนวทางนโยบายของนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. ผ่านการช่วยเหลือโดยศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน หรือ ศรส. ซึ่งประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน ครอบครัว สตรี และทุกมิติที่กระทรวง พม. ดูแลอยู่ ซึ่งทำงานร่วมกับศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. 1300 ทีม One Home พม.จังหวัด คอยสแตนบายดูแลตลอดสำหรับผู้ได้รับผลกระทบ
"ในการทำงานนอกเหนือจากการมีทักษะ ทีมสหวิชาชีพ ยังต้องได้รับการอบรมตามหลักวิชาการ ยังรวมไปถึงการบริการที่เป็นมิตร นั้นคือ ในนิยามของการทำงานร่วมมือกัน ของเอ็นจีโอ ประชาสังคม รัฐ เข้ามามีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ขณะดียวกันยังรวมไปถึง เรื่องของสิ่งแวดล้อม เช่น การปรับปรุง กายภาพ ที่อยู่อาศัย หรืออารยสถาปัตย์ เพื่ออำนวยความสะดวกเข้าถึงพื้นที่อย่างเท่าเทียม เช่น คนพิการ ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐ ซึ่งมีการกฎกระทรวงระบุชัดเจน ในการต้องอำนวยความสะดวก ปรับปรุง เพิ่มเติม อาคาร สถานที่" อธิบดี พก. ระบุ.
No comments:
Post a Comment