วช. โดย ศูนย์ HTAPC ร่วมกับ ศวอ. ถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหามลพิษอากาศรายภาคส่วนประเทศไทย อดีต – ปัจจุบัน – อนาคต
วันที่ 10 เมษายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ (Hub of Talents on Air Pollution and Climate – HTAPC) ร่วมกับ ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ “การถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหามลพิษอากาศรายภาคส่วนประเทศไทย อดีต – ปัจจุบัน – อนาคต” เพื่อใช้เป็นตัวอย่างและบทเรียนเพื่อนำไปพิจารณาปรับใช้ในการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษอากาศจากวันนี้ต่อไปในอนาคต และแก้ไขปัญหามลพิษอากาศในประเทศไทยให้ได้มาซึ่งอากาศสะอาดสำหรับประชาชนต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน ซึ่งมี ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ และ นายไพสิฐ พาณิชย์กุล ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ กล่าวต้อนรับในการเสวนาครั้งนี้ ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร
ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ วช. กล่าวว่า ปัญหามลพิษอากาศในประเทศไทยมีมากว่า 20 ปี โดยหลายภาคส่วนมีการดำเนินการในการจัดการแก้ปัญหามลพิษอากาศมาโดยตลอด ในปัจจุบันปัญหามลพิษอากาศยังคงมีอยู่และมากขึ้นจากอดีต ส่วนหนึ่งของการเกิดมลพิษอากาศนั้นมาจากฤดูกาล ซึ่งในช่วงฤดูหนาว จนถึงช่วงฤดูร้อน ปัญหามลพิษอากาศจะมีมากกว่าช่วงฤดูฝน การจัดเสวนาวิชาการ เรื่องการถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหามลพิษอากาศรายภาคส่วนประเทศไทย อดีต – ปัจจุบัน – อนาคต เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านมลพิษอากาศของประเทศไทย ที่มีผลมาจากอดีต และปัจจุบัน ทำให้มลพิษทางอากาศสะอาดขึ้นในอนาคต
การเสวนาวิชาการในหัวข้อ “การถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหามลพิษอากาศรายภาคส่วนประเทศไทย อดีต – ปัจจุบัน – อนาคต” ในครั้งนี้ ได้มีการนำเสนอข้อเสนอแนะที่หลากหลาย อาทิ การกำหนดให้หน้าที่ในการรักษาคุณภาพอากาศเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วน การบริหารจัดการการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ และการกำหนดแนวทางการจัดการมลพิษสำหรับนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ จะได้รับการรวบรวมและจัดทำเป็นรายงานเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อใช้ประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาและป้องกันมลพิษทางอากาศในประเทศต่อไป
No comments:
Post a Comment