นักวิชาการแอลกอฮอล์ระดับโลก ยกไทยเป็นตัวอย่าง มีกฎหมายคุมน้ำเมาดี ช่วยลดการดื่ม การตายของประชากร สวนทางทฤษฎีร่ำรวยขึ้น ยิ่งสามารถดื่มได้มากขึ้น
“การเติบโตทางเศรษฐกิจมีผลต่อการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น เพราะเมื่อระดับเศรษฐกิจของประเทศขยับสูงขึ้น ประชาชนมีเงินจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นก็อาจจะนำไปซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และประเทศนั้นก็มักจะตกเป็นเป้าหมายของอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ที่จะเข้ามาขยายตลาด มักใช้โฆษณาและเทคนิคทางการตลาดเพื่อชักชวนให้คนดื่มสุรามากขึ้น” ศาสตราจารย์เจอร์เกน เรห์ม
ศาสตราจารย์เจอร์เกน เรห์ม กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย การพัฒนาจากประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลางไปเป็นรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูงตั้งแต่ปี 2553 กลับไม่ทำให้อัตราเสียชีวิตจากทุกสาเหตุและอัตราเสียชีวิตที่สัมพันธ์กับการดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น เพราะประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ดีมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และมีระบบการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ดีที่ทำให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีราคาสูง อีกทั้ง ยังกำหนดอายุต่ำสุดของบุคคลที่จะซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เป็น 20 ปี และมีมาตรการจำกัดวัน เวลา และสถานที่ในการซื้อและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเป็นการจำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางกายภาพที่มีประสิทธิภาพ
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเวียดนามซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจมาก และขยับจากประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางในช่วงเวลาเดียวกันกับประเทศไทย แต่กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การเก็บภาษีแอลกอฮอล์ของเวียดนามไม่ได้เข้มงวดเท่าประเทศไทย ระดับการบริโภคเครื่องดื่มของเวียดนามและอัตราเสียชีวิตที่สัมพันธ์กับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรเวียดนามจึงเพิ่มสูงขึ้นตามไปกับรายได้เฉลี่ยประชาชาติที่เพิ่มขึ้น.
No comments:
Post a Comment