ตามไปดูทางเท้ามาตรฐานใหม่ราชดำริ-เพลินจิต ลุยขยายผลครอบคลุมทั่ว กทม.
25 เม.ย.67 - นายเอกวรัญญู อัมมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร นางสุวิชชา นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และผู้บริหารสำนักการโยธา นำคณะสื่อมวลชนสำรวจทางเท้าบริเวณถนนราชดำริและถนนเพลินจิต และชมการปรับปรุงฝาท่อที่ออกแบบให้มีความโดดเด่นและแสดงออกถึงอัตลักษณ์ประจำย่านราชดำริ - เพลินจิต โดยทางเท้าบริเวณนี้ถือเป็นหนึ่งในเส้นทางนำร่องในการใช้มาตรฐานทางเท้าใหม่ที่จะมีความมั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้น มีความเป็น Universal Design มากขึ้น และมีการปรับให้ทางเข้าออกอาคารกับทางเท้ามีความสูงที่ใกล้เคียงกัน
กรุงเทพมหานครมีเป้าหมายในการพัฒนาทางเท้าของกรุงเทพมหานครให้เดินได้ เดินดี และน่าเดิน โดยในระยะแรกตั้งเป้าไว้ 1,000 กิโลเมตร ผ่าน 3 วิธี คือ การทำใหม่ทั้งเส้นทาง การปรับปรุงซ่อมแซมจุดที่ชำรุดเป็นการเร่งด่วน และการปรับใช้นวัตกรรมให้เหมาะสมกับพื้นที่ *มุ่งเป้าทำทางเท้ามาตรฐานใหม่ 76 เส้นทางภายในปี 68
สำหรับการทำใหม่ทั้งเส้นทางมีการดำเนินการ 2 รูปแบบ โดยในส่วนพื้นที่ชั้นในและเส้นทางที่มีผู้คนสัญจรหนาแน่นจะปูโดยใช้กระเบื้องตามมาตรทางเท้าใหม่ ซึ่งฐานรากจะต้องเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กหนา 10 เซนติเมตร ที่จะสามารถเพิ่มความแข็งแรงของทางเท้าได้ ซึ่งปัจจุบันทางเท้าของ กทม. ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงทั้งเส้นทางด้วยมาตรฐานทางเท้าใหม่มี 16 เส้นทาง ยกตัวอย่างเช่น ถนนราชดำริ ถนนเพลินจิต อุดมสุข เป็นต้น และมีภายในปี 2567 นี้มีแผนจะดำเนินการตามมาตรฐานทางเท้าใหม่ในลำดับต่อไปอีก 38 เส้นทาง และ 22 เส้นทางในปี 2568 ในส่วนพื้นที่ชานเมืองบางเส้นทางซึ่งการสัญจรไม่หนาแน่นจะใช้วิธีปูด้วยแอสฟัลต์ ขณะนี้ได้ดำเนินการเส้นทางนำร่องแล้วที่ถนนพุทธบูชา (เขตทุ่งครุ) และทั้งสองฝั่งของถนนคุ้มเกล้า (เขตลาดกระบัง) และกำลังขยายไปยังถนนทางรถไฟสายเก่า (ปากน้ำ) ถนน พุทธมณฑลสาย 1 และถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ด้วย
โดยการปรับปรุงแต่ละเส้นทางก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างออกไป เช่น ถนนเพลินจิตและราชดำริ มีการนำศิลปะมาใช้กับฝาท่อ ผ่านการออกแบบให้มีความโดดเด่นและแสดงออกถึงอัตลักษณ์ประจำย่านราชดำริ - เพลินจิตซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจใจกลางเมือง รวมทั้งจะพัฒนาในเส้นทางอื่นๆ ให้กลายเป็น 1 ในสัญลักษณ์ของเมืองเหมือนกับญี่ปุ่นที่มีการดึงเอาฝาท่อกับสัญลักษณ์ประจำเมืองมาผสมผสานกัน นอกจากนี้ ยังปรับรางระบายน้ำตลอดแนวถนนจากรูปแบบเดิมที่เป็นช่องระบายน้ำติดกับฟุตบาท มาเป็นรางระบายน้ำตลอดแนวถนน เพื่อช่วยระบายน้ำท่วมขังบนถนนได้เร็วขึ้น
*มาตรฐานใหม่ 10 ข้อ เริ่มนำร่องกับ 16 เส้นทางในกรุงเทพฯ
1. ลดระดับความสูงคันหินทางเท้า เป็นแบบรางตื้นสูง 10 เซนติเมตร
2. ลดระดับความสูงคันหินทางเท้าบริเวณทางเข้าออกอาคารหรือซอยต่าง ๆ ให้สูง 10 เซนติเมตร จากเดิม 18.50 เซนติเมตร
3. เปลี่ยนพื้นทางเท้าเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ด้วยคอนกรีตหนา 10 เซนติเมตร และเสริมเหล็ก 6 มิลลิเมตร
4. ปรับทางเข้า-ออกอาคารให้มีระดับเสมอกับทางเท้า เพื่อให้ผู้ใช้ทางเท้าทุกคนสามารถผ่านได้อย่างต่อเนื่อง สะดวกสบาย
5. ปรับทุกทางเชื่อมและทางลาดให้มีความลาดเอียง 1 : 12 ตามมาตรฐานสากล
6. เพิ่มรูปแบบทางเลือกวัสดุปูทางเท้า เป็นแอสฟัลต์คอนกรีตพิมพ์ลาย
7. เปลี่ยนช่องรับน้ำจากแนวตั้งให้เป็นแนวนอน เพื่อเพิ่มอัตราการไหลของน้ำ
8. วางแนวทางการจัดตำแหน่งระบบสาธารณูปโภคบนทางเท้า เพื่อไม่ให้กีดขวางผู้ใช้ทางเท้า
9. วางอิฐนำทาง (Braille Block) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการทางสายตา
10. ปรับปรุงแบบคอกต้นไม้ด้วยวัสดุพอรัสแอสฟัลต์ เพื่อขยายพื้นที่ทางเท้าให้กว้างขึ้น
*ทางเท้าชำรุด เน้นรู้ไว ซ่อมเร็ว สภาพดี เพื่อความปลอดภัย
ในส่วนของการปรับปรุงและซ่อมแซมทางเท้าที่ชำรุด กทม. โดย สำนักการโยธาและสำนักงานเขตที่รับผิดชอบแต่ละพื้นที่จะใช้หน่วยเคลื่อนที่เร็ว (BEST) ออกดำเนินการซ่อมแซมให้เร็วที่สุด และให้อยู่ในสภาพที่พร้อมโดยใช้งานได้อย่างปลอดภัย หากจุดไหนสามารถทำเป็นทางเท้ามาตรฐานใหม่ได้จะมีการปรับปรุงด้วยเช่นกันโดยที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาในการแจ้งผ่าน Traffy Fondue เมื่อพบเห็นจุดที่ชำรุดหรือเสี่ยงต่ออันตราย ทำให้เขตรับทราบปัญหาอย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากการลงพื้นที่สำรวจด้วยตนเอง
สำหรับเส้นทางที่ไม่เหมาะสมในการทำทางเท้าขึ้นมา หรือ เช่น ในตรอกซอกซอย หรือในพื้นที่ที่มีทางเท้าแคบ ได้มีการรื้อย้ายสิ่งกีดขวางทางเท้า และใช้หลากหลายวิธีให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ เช่น การขีดสีตีเส้นช่วยแบ่งแนวให้คนเดินเท้า การนำพอรัสแอสฟัลต์ซึ่งน้ำซึมทะลุได้มาล้อมคอกต้นไม้เพื่อเพิ่มความกว้างของทางเท้าที่มากยิ่งขึ้น เป็นต้น
No comments:
Post a Comment