กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ สมาคมแม่บ้านมหาดไทย จัดงานเปิดตัว หนังสือเครื่องสานไทย เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 36 พรรษา เพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพและพระกรณียกิจด้านการพัฒนาแฟชั่นให้ยั่งยืน (Fashion Sustainability) ภายในงาน Silk Festival 2023 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน Silk Success Sustainability ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 6-7 เมืองทองธานี เมื่อวันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม 2566
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตลอดระยะกว่า 3 ปี ของการดำเนินโครงการตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้น้อมนำพระดำริแนวคิดมาพัฒนาสร้างสรรค์ต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยให้ทันสมัย มาปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านโครงการมากมาย อาทิ ดอนกอยโมเดล นาหว้าโมเดล บาติกโมเดล Young OTOP รวมถึง การพัฒนาโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) และล่าสุดพระองค์ท่านพระราชทาน เครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion: แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” แก่ช่างทอผ้า ช่างหัตถกรรม ผู้ผลิต และผู้ประกอบการที่สร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ด้วยขั้นตอนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า สิ่งที่พระองค์ท่านพระราชทานเกิดประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจฐานราก
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยเดินหน้าโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรม สู่ Sustainable Fashion แฟชั่นแห่งความยั่งยืน ตามแนวพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้จัดทำ หนังสือเครื่องสานไทย รวบรวมภูมิปัญญาการจักสานพื้นถิ่น ที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตวัฒนธรรม ผ่านผลงานเครื่องจักสานชิ้นเอกที่มีความร่วมสมัยเป็นสากล ทั้งแบบรูปเล่ม และ ฉบับดิจิทัล เพื่อให้ประชาชน ช่างทอ ช่างหัตถกรรม ผู้ประกอบการ นิสิตนักศึกษา ตลอดจนผู้สนใจ ได้นำองค์ความรู้ไปต่อยอดในอนาคต
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เปิดเผยว่า จากวันแรกที่สมาคมแม่บ้านมหาดไทยน้อมนำแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ขับเคลื่อนผ่านประธานแม่บ้านมหาดไทย 76 จังหวัด โดยพระองค์ท่านพระราชทานพระดำริแนวทางการพัฒนาผ้าไทยและงานหัตถกรรมไปต่อยอดตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทรงนำเอาวิชาการสมัยใหม่ที่เป็นความชำนาญพิเศษของพระองค์ในเรื่องของการออกแบบ แพคเกจจิ้งการทำแบรนด์ดิ้ง ช่วยยกระดับคุณค่า มูลค่าของงานหัตถศิลป์ จนวันนี้เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงจากเดิมย้อมผ้าด้วยสีเคมี หันมาผลิตผ้าที่ย้อมจากสีธรรมชาติตามเทรนด์ Sustainability รวมถึงส่งต่อสู่ผู้สืบทอดภูมิปัญญาผ้าไทย ต่างมุ่งมั่นในการต่อยอดผ้าไทยสู่ Next Gen. ตามพระดำริ เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อาทิ กลุ่มบ้านดอนกอย สามารถสร้างรายได้ให้กับ คนในชุมชนจากเดิม 700 บาท/คน/เดือน เพิ่มเป็น 15,000 - 20,000 บาท/คน/เดือน เป็นต้น
นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก เผยว่า หนังสือเครื่องสานไทย รวบรวมภูมิปัญญาการจักสานพื้นถิ่น ที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตวัฒนธรรม ผ่านผลงานเครื่องจักสานชิ้นเอกที่มีความร่วมสมัยเป็นสากล ที่เกิดจากการร่วมบูรณาการองค์ความรู้ ระหว่างช่างจักสานจากทุกภูมิภาคของประเทศ ร่วมกับคณะที่ปรึกษาโครงการฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นถิ่น นักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา เพื่อเผยแพร่คุณค่าทางวัฒนธรรมของเครื่องสานไทย เสริมสร้างและยกระดับศักยภาพช่างจักสานไทยสู่การส่งออกไปต่างประเทศ
สำหรับผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือ หนังสือเครื่องสานไทย รวมถึงหนังสือเล่มอื่นๆ ในรูปแบบดิจิทัลได้ที่ https://www.facebook.com/phathaisaihaisanook
No comments:
Post a Comment