โครงการความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
และบริษัท แอมเจน (ประเทศไทย) จำกัด
จัดตรวจมวลกระดูก เพื่อระวังภัยเงียบ...โรคกระดูกพรุน
โดยโครงการมุ่งเน้นการให้บริการตรวจมวลกระดูกด้วยรถตรวจมวลกระดูก ระบบ dual-energy x-ray absorptiometry (DXA) ให้กับผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ของโครงการฯ ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง, โรงพยาบาลสิรินธร, โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโธ อุทิศ และ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ ให้สามารถเข้าถึงบริการตรวจมวลกระดูกได้ที่โรงพยาบาล
โครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อเพิ่มการเข้าถึงการตรวจมวลกระดูกของผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานครฯ มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงในโรงพยาบาลที่ไม่มีเครื่องตรวจมวลกระดูกหรือระยะเวลาการเข้าถึงการตรวจที่ยาวนานได้เข้าถึงการตรวจมวลกระดูกที่ได้มาตรฐาน และเป็นไปตามคำแนะนำเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโรคกระดูกพรุน ของมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2564 เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงมีความตระหนักถึงสภาวะกระดูกพรุนของตนเองที่มักทำให้เกิดภาวะกระดูกหักได้ง่าย ซึ่งส่งผลอย่างยิ่งทั้งต่อตัวผู้ป่วยกระดูกหักและผู้ดูแล หรือ บุคคลรอบข้าง อีกทั้ง ในโครงการฯ ได้มีการให้การรักษาและความรู้ผ่านหนังสือสาระน่ารู้เกี่ยวกับโรคกระดูกพรุน ทำให้เกิดความเข้าใจและตระหนักรู้ถึงภัยเงียบของโรคดังกล่าว
นอกจากนี้ ทางโครงการได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการเข้าร่วม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้รับการตรวจที่มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามคำแนะนำเวชปฏิบัติ การดูแลรักษาโรคกระดูกพรุน โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องผ่านการคัดกรองจากแพทย์ออร์โธพีดิกส์ ซึ่งกำหนดอายุ ในเพศหญิงที่อายุมากกว่า 65 ปี และเพศชายที่อายุมากกว่า 70 ปี และมีการประเมินด้วย FRAX ก่อนเข้ารับบริการ ซึ่งโครงการฯ นี้มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 197 ราย
ในงานแถลงผลของโครงการฯ ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 พบว่าจากผู้เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมดที่ผ่านการคัดกรอง มีผู้มารับบริการเข้าตรวจในวันที่ให้บริการทั้งหมด 172 ราย จากการวิเคราะห์ข้อมูลหลังจบโครงการฯ พบว่ามีผู้เข้ารับบริการมีภาวะกระดูกบางทั้งสิ้น 52 ราย และผู้ที่มีภาวะโรคกระดูกพรุน 88 ราย เมื่อพิจารณาผลของโครงการฯ ในภาพรวม ทำให้ทราบว่า ในกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนนั้น มีภาวะความผิดปกติของมวลกระดูกสูงถึงร้อยละ 81
ผลของโครงการฯ นี้ ถือเป็นก้าวแรกของการเริ่มต้นในการตระหนักถึงสุขภาพกระดูกของผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานครฯ โครงการความร่วมมือฯ นี้เป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการและบริษัทเอกชนที่เน้นการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน และสร้างความตระหนักถึงโรคกระดูกพรุนที่นำมาซึ่งการสูญเสียทางสุขภาพและเศรษฐกิจในระดับครอบครัวสังคม นอกจากนี้ ความสำเร็จนี้ยังส่งผลต่อระบบการให้บริการด้านสุขภาพในอนาคต ที่มุ่งหวังที่จะสร้างสังคมที่มีสุขภาพกระดูกที่แข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นไป
No comments:
Post a Comment