ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ศึกษาประวัติศาสตร์ เยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Tuesday 19 September 2023

ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ศึกษาประวัติศาสตร์ เยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 33 พาครูอาจารย์และผู้บริหารที่สนใจ  ลงพื้นที่ สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ ณ โครงการพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย บริเวณทุ่งมะขามหย่อง  พระนครศรีอยุธยา สถานที่ประวัติศาสตร์แผ่นดินแห่งพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทย เป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ทรงนำพื้นที่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ตามแนวพระราชดำริ ด้านการเกษตรกรรม สร้างเป็นพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำที่ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดใกล้เคียงรวมถึงกรุงเทพมหานคร ได้บรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วม และช่วยเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง  รวมทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคการพัฒนาอาชีพเพื่อสร้างรายได้ตลอดจนการแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมฟื้นฟูทรัพยากร ธรรมชาติ  และสิ่งแวดล้อมให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม นับได้ว่าประเทศไทยสามารถเรียนรู้และรับมือกับความแปรปรวนของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติได้ ด้วยพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ที่ทรงห่วงใยพสกนิกร ทรงวางรากฐานการจัดการทรัพยากรไว้ได้อย่างรอบคอบ

นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมและศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาที่สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโบราณวัตถุ ที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ เมื่อปี พ.ศ.2500 และมีพระราชปรารถให้จัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ เป็นต้นแบบของพิพิธภัณฑ์ที่มีการวางแผนการจัดแสดงอย่างเป็นระบบ เพื่อการเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่สังคมและวัฒนธรรมประเพณีที่สั่งสมมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยา ช่วยให้เข้าใจและเข้าถึงเรื่องราวความเจริญรุ่งเรืองในอดีตที่น่าภาคภูมิใจเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไทยและบรรพชนในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งโบราณวัตถุที่แสดงอยู่นี้เป็นสิ่งล้ำค่ามากมายจากอดีตที่เคยอยู่ในกรุวัดราชบูรณะและจากโบราณสถานใกล้เคียงในพระนครศรีอยูธยา ได้ถูกนำมาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า “การสร้างการตระหนักรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจและร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกันปกป้องเพื่อให้โลกนี้ปลอดภัยและน่าอยู่ รวมทั้งการศึกษาประวัติศาสตร์เป็นการสืบสานรักษามรดกของประเทศ   ทิพยประกันภัย คำนึงถึงการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเสาหลัก ESG  สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล การได้มาเรียนรู้โครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ช่วยให้เราทุกคนได้มีส่วนร่วมในการสร้างการตระหนักรู้และสร้างการเปลี่ยนแปลง ส่งผลบวกให้กับผู้มีส่วนได้เสียรวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ให้สามารถพัฒนาได้ดีขึ้นทั้งในมิติสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ต่อไปในอนาคต”

นับเป็นครั้งแรกของโครงการฯ ที่ทำพิธีเปิด ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา โดยได้รับเกียรติจากนางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม (ผู้แทนปลัดกระทรวงวัฒนธรรม) เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมร่วมปล่อยปลาบึกจำนวน  303 กิโลกรัม ไถ่ชีวิตเป็นมหาทานครั้งที่ 311  มอบเสื้อกีฬาจำนวน 100 ตัว และทุนการศึกษาสำหรับนักเรียน นอกจากนี้ยังได้ทำการมอบชุดหนังสือจากโครงการอมรินทร์อาสาอ่านพลิกชีวิต อมรินทร์กรุ๊ป ให้กับโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา และโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในจังหวัดใกล้เคียง 

ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวว่า “กิจกรรมในครั้งนี้ มีความสำคัญทั้งในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประเพณีวัฒนธรรมสังคม การจัดการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และความสำคัญด้านพุทธศาสนา และมีการปฏิบัติธรรมถวายเป็นพุทธบูชา ณ วัดราชบูรณะ วัดสำคัญทางประวัติศาสตร์ ของอยุธยาในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เป็นการน้อมรำลึกด้วยความกตัญญูถึงคุณูปการของบรรพชนไทยในสมัยอยุธยาที่ร่วมกันดูแลรักษาพื้นแผ่นดินไทย ให้คงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน” นอกจากนี้ คณะครูอาจารย์ยังได้ทำกิจกรรม Workshop การถอดบทเรียนนวัตกรรมศาสตร์พระราชา โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และการบรรยายถอดรหัสพระอัจฉริยะภาพของในหลวงรัชกาลที่ ๙ โดย ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี การบรรยายเรื่องคุณธรรมในยุคดิจิทัล 


โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม นับว่าเป็นการได้เรียนรู้ พัฒนา และบูรณาการความรู้ครบทุกมิติ ทั้งด้านตนเอง สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามนโยบาย UNSDG ภายในปี 2030 ทั้งนี้ ครูอาจารย์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านจะได้รับประกาศนียบัตรว่าได้ผ่านการอบรมจากโครงการฯ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นหนึ่งในกิจกรรมการพัฒนาตนเองในการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาจากคุรุสภาได้ 

โครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา จัดโดย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)  ร่วมกับ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)  คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และมูลนิธิธรรมดี  พร้อมด้วยการสนับสนุนหนังสือจากโครงการอมรินทร์อาสาอ่านพลิกชีวิต อมรินทร์กรุ๊ป โดยกิจกรรม ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 34 จะเดินตามรอย ณ พิพิธภัณฑการเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จังหวัดปทุมธานี ในวันที่ 28-29 ตุลาคม 2566 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ คุณจารุกัญญ์ โทรศัพท์ 099 397 5333  FB : ตามรอยพระราชา-The King’s Journey  LINE :  The King’s Journey 













No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages