วช. ขับเคลื่อนนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษา จัดกิจกรรม “บ่มเพาะผู้จัดการโครงการสิ่งประดิษฐ์” - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Wednesday 23 August 2023

วช. ขับเคลื่อนนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษา จัดกิจกรรม “บ่มเพาะผู้จัดการโครงการสิ่งประดิษฐ์”

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จัดกิจกรรม “บ่มเพาะผู้จัดการโครงการสิ่งประดิษฐ์” Training for Invention Manager : IM สายอาชีวศึกษา ประจำปี 2566 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักศึกษาสายอาชีวศึกษา ให้เกิดแรงจูงใจในการคิดค้นผลงานประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อใช้ในประเทศ โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพลังสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา” และมี นายสง่า แต่เชื้อสาย ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เข้าร่วมในพิธีเปิด ณ โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพฯ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคนและสังคมไทยให้เป็นรากฐานที่แข็งแกร่งของประเทศในการเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้สู่การร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพซีวิตและสังคม จึงร่วมกับ สอศ. วางกลไกและจัดทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและบุคลากรของสถาบันการศึกษาได้พัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีทักษะและคุณลักษณะที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีของโลก สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ต่อไป

นายสง่า แต่เชื้อสาย ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างความรู้ ความเข้าใจ การสร้างแรงบันดาลใจกับทีมนักศึกษาสายอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ที่จะเป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนากำลังคนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สู่การขับเคลื่อน การพัฒนาและสร้างนวัตกรรมในอนาคต

กิจกรรม “บ่มเพาะผู้จัดการโครงการสิ่งประดิษฐ์” Training for Invention Manager : IM สายอาชีวศึกษา ประจำปี 2566 ในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 - 23 สิงหาคม 2566 โดยภายในงานมีการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการเขียนข้อเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ใน 5 ด้าน ดังนี้ 1. ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร โดย รศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2. ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดย รศ.ดร.ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 3. ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และอุปกรณ์อัจฉริยะ โดย ศ.ดร.มิตรชัย จงเชี่ยวชำนาญ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 4. ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model โดย ศ.ดร.ปรินทร์ ชัยวิสุทธางกูร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ 5. ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดย รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นอกจากนี้ยังมี การเสวนา เรื่อง “Invention & Innovation ที่ตอบโจทย์อนาคตไทย” อีกด้วย







No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages