พลิกโฉมนวัตกรรมสร้างความเสมอภาค ‘โรงเรียนห่างไกล โรงเรียนในเมือง’ - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Saturday 24 June 2023

พลิกโฉมนวัตกรรมสร้างความเสมอภาค ‘โรงเรียนห่างไกล โรงเรียนในเมือง’

พลิกโฉมนวัตกรรมสร้างความเสมอภาค ‘โรงเรียนห่างไกล โรงเรียนในเมือง’ กสศ. Sea ประเทศไทย และเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี จับมือมอบรางวัลแห่งความสำเร็จโครงการ ‘Equity Partnership’s School Network’ เป็นปีที่ 4 เดินหน้าปั้นต้นแบบการสร้างโอกาสทางการศึกษาผ่านความร่วมมือจากสังคม

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 บริเวณลานโปรโมชั่น ชั้น G ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ เครือข่ายโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี และ บริษัท Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าออนไลน์ Shopee ร่วมจัดงานประกาศรางวัลและจัดแสดงผลงานนิทรรศการนักเรียนที่ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ ภายใต้โครงการขยายผลและพัฒนาความร่วมมือสร้างเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ “Equity Partnership’s School Network” ปีที่ 4


กิจกรรมนี้เป็นการต่อยอดแนวทางการทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนานวัตกรรมลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างสถานศึกษา ครู นักเรียนจากโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลกับโรงเรียนนานาชาติ โดยการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรม สร้างความเข้าอกเข้าใจ การพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ การใช้เทคโนโลยี E-Commerce เพื่อพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการในศตวรรษที่ 21 ให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาคที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าร่วมกับนักเรียนเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ จัดจำหน่ายในช่องทางตลาดออนไลน์ โดยกระทรวงศึกษาธิการยกย่องว่าเป็นต้นแบบการสร้างนวัตกรรมทางสังคมในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาที่ใช้ต้นทุนต่ำ แต่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ผลสูง

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา โครงการ Equity Partnership’s School Network ก่อให้เกิดการสร้างคุณค่า หรือ  Value Creation ที่สามารถเหนี่ยวนำให้ทุกภาคส่วนสนใจเข้ามาร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ยั่งยืนได้ อาทิเช่น


1. คุณค่าที่เกิดจากการทำงานร่วมกัน ระหว่างเด็กเยาวชนจากโรงเรียน 2 สังกัดในกระทรวงศึกษาธิการ ได้ทำงานร่วมกันเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา  ผ่านการนำความเชี่ยวชาญ ความถนัด มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นโดยใช้โจทย์ของภูมิปัญญาท้องถิ่นและโลกยุคใหม่ รวมทั้งทรัพยากรจากโรงเรียนทั้ง 2 กลุ่มที่หลากหลาย และสามารถนำมาหลอมรวมพัฒนาผลิตภัณฑ์ขายบน Platform ของ Shopee จนได้เงินต้นคืนรวมทั้งมีดอกผลกำไรรวมกันมากกว่าร้อยละ 30 ของเงินลงทุนได้สำเร็จ

2. คุณค่าที่เกิดจากมิตรภาพ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ระหว่างเด็กเยาวชนจากโรงเรียนของรัฐและโรงเรียนนานาชาติเอกชน ที่ได้ตระหนักในพรสวรรค์ และศักยภาพที่แตกต่างหลากหลาย แต่สามารถก้าวข้ามอุปสรรคทางภาษาจนสามารถเติมเต็มซึ่งกันและกัน และเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาซึ่งเป็นโจทย์สำคัญในการพัฒนาประเทศทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

3. คุณค่าที่เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างผู้บริหาร และคณะครูจากโรงเรียนของรัฐและโรงเรียนนานาชาติเอกชน ที่มีโอกาสได้ทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนชุดประสบการณ์ในการพัฒนาผู้เรียนในระบบการศึกษาร่วมกัน รวมทั้งโอกาสในการขยายขอบเขตความร่วมมือจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน และสังคมไทย และนานาชาติต่อไป

4. คุณค่าที่เกิดจากการสนับสนุนของประชาชนผู้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์จากทีมเครือข่ายโรงเรียนเสมอภาคที่คิดเป็นมูลค่ารวมมากกว่า 3 แสนบาทในปีนี้ และรวมทั้ง 4 ปีที่ผ่านมาเป็นมูลค่ารวมมากกว่า 1.5 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยพร้อมให้การสนับสนุนการทำงานร่วมกันของเด็กเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการนี้ ทั้งในส่วนของต้นทุนและดอกผลกำไรที่เครือข่ายสถานศึกษาจะนำไปใช้พัฒนาโรงเรียนสังกัด สพฐ. ในชนบทต่อไปในอนาคต


“คุณค่าทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเสมือนการสร้างเมล็ดพันธุ์แห่งความหวังในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่เติบโตขึ้นในหัวใจของเด็ก ๆ คุณครู และเครือข่ายโรงเรียน รวมถึงภาคส่วนต่าง ๆ ที่ร่วมมือกันตลอด 4 ปี โดย กสศ.และภาคีหน่วยงานร่วมจัด คาดหวังว่านอกจากชิ้นงานที่เห็นในวันนี้และมูลค่าทางเศรษฐกิจซึ่งเกิดการสร้างมูลค่าที่ทวีคูณแล้ว สิ่งที่คาดหวังในวันข้างหน้าคือสังคมไทยจะร่วมกันแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาในอนาคตได้เองอย่างยั่งยืน โดยพุ่งเป้าไปที่โรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือหรือโรงเรียนที่ขาดโอกาสด้วยพลังความร่วมมือของทุกคน” ดร.ประสาร กล่าว

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  กล่าวว่าความเชื่อมั่นในศักยภาพของเด็กทุกคน คือหัวใจของโครงการนี้ซึ่งดำเนินงานมาเป็นปีที่ 4  มีโรงเรียนเข้าร่วมจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศรวม 19 แห่ง จำแนกได้เป็นโรงเรียนไทย 12 แห่ง และโรงเรียนนานาชาติ 7 แห่ง ร่วมกันพัฒนาและผลิตสินค้าเพื่อจัดจำหน่ายผ่าน Shopee ภายใต้ 12 แบรนด์ที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ของแต่ละโรงเรียนและบริบทพื้นที่ได้อย่างโดดเด่น ปีนี้เป็นปีแรกที่มีโรงเรียนนานาชาติจากต่างจังหวัดเข้าร่วมโครงการคือ Rugby School Thailand จ.ชลบุรี และได้รับความสนใจและความร่วมมือจากนานาชาติ โดยประเทศสิงคโปร์และอังกฤษเข้ามาสังเกตการณ์โครงการ


ทุกโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในปีนี้ สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ออกมาได้ดีเยี่ยมและทุกทีมได้รับสิทธิ์ร้านค้าที่เข้าเกณฑ์โปรแกรม Shopee International Platform (SIP) ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์ของเด็ก ๆ ได้โลดแล่นอวดสายตาของผู้ซื้อทั่วโลก โดยมียอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2565 จนถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 รวม 311,636 บาท และมูลค่ารวมทั้ง 4 Season จำนวน 1,538,486 บาท จากผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 134  ชิ้นงาน ซึ่งเป็นการพิสูจน์ชัดว่า กสศ. ลงทุนเพียงหลักหมื่นแต่สามารถสร้างมูลค่าคืนกลับทวีคูณ


“โรงเรียนที่เข้าร่วมได้ต่อยอดและขยายผลอย่างเป็นรูปธรรม 11 โรงเรียนมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และจำหน่ายอย่างต่อเนื่องทั้งบน Shopee และร้านค้าในชุมชน รวมทั้งขยายผลในมิติอื่น ๆ เช่น โรงเรียนบ้านหนองธง จ.พัทลุง ที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และได้นำองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการไปขยายผลต่อยอดกับโรงเรียนต่างอำเภอจนได้รับรางวัลการสอนงานอาชีพ Best of the Best จาก สพฐ. รวมทั้งได้รับเชิญจากเทศบาลเมืองพัทลุง ไปร่วมนำเสนอจัดแสดงผลิตภัณฑ์ให้กับประชาชนในโครงการพัฒนาอาชีพ และยังได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจเอกชนในพื้นที่อย่างสวนเดอลอง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของ จ.พัทลุง ให้โรงเรียนจัดส่งผลิตภัณฑ์ผ้าพิมพ์ Eco print ไปวางจำหน่าย ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นกับทุก ๆ โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ต่อเนื่องและยั่งยืน” ผู้จัดการ กสศ.กล่าว

คุณพุทธวรรณ สุภัทรนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า ดีใจที่โครงการนี้สามารถสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลและทักษะความเป็นผู้ประกอบการที่สามารถนำความรู้มาสร้างเป็นอาชีพ สร้างรายได้ รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา อย่างไรก็ตามทักษะด้าน E-Commerce และการทำธุรกิจบนโลกดิจิทัลเป็นทักษะไม่หยุดนิ่ง จึงถือเป็นช่องทางหนึ่งในการเปิดโอกาสทางด้านอาชีพผ่านการลงมือทำจริงให้เกิดการพัฒนาตลอดเวลา ซึ่งบริษัทฯ มีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการลดช่องว่างทักษะดิจิทัล


“เราได้สนับสนุนการเปิดพื้นที่ขายสินค้าบนแพลตฟอร์มของ Shopee เพื่อเป็นตัวกลางให้นักเรียนได้นำผลงานที่สร้างสรรค์มาจำหน่าย และได้เรียนรู้จากการลงมือทำจริง ได้รับรายได้จากการขาย ซึ่งนักเรียนสามารถนำไปกระจายสู่ชุมชน และต่อยอดการพัฒนาทักษะอาชีพในอนาคตและบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในครัวเรือน และยังเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้นักเรียนอีกด้วย ในอนาคตหากมีโครงการลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นอีก เรายินดีที่จะให้ความร่วมมือเพราะเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพพร้อมที่จะพัฒนา และเราก็มีความพร้อมทางด้านทรัพยากรต่าง ๆ ที่จะให้การสนับสนุน” คุณพุทธวรรณ กล่าว


ด้าน นายเกรกอรี่ เธรลฟอล (Mr. Greg Threlfall) ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่องค์ความรู้ โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี่ กรุงเทพฯ กล่าวว่า โครงการ Equity Partnership’s School Network ได้สร้างประสบการณ์พิเศษให้เยาวชนได้เติมเต็มซึ่งกันและกันผ่านการเรียนรู้ระหว่างเพื่อนต่างโรงเรียน ต่างวัฒนธรรม ให้เข้าใจบริบทสังคมที่มีความหลากหลาย ถือเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านการสร้างประสบการณ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีคุณค่า ไม่เพียงสร้างมิตรภาพระหว่างกัน แต่ยังก่อให้เกิดการบูรณาการทักษะอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคตให้เป็นผู้นำรุ่นใหม่ของประเทศ

ทั้งนี้ โครงการ Equity Partnership’s School Network ปีที่ 4 มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รางวัลจากโครงการประกอบด้วยรางวัลที่ 1 เป็นของทีม Southซี้ จากโรงเรียนบ้านหนองธงจังหวัดพัทลุงและโรงเรียนสาธิตประสานมิตรหลักสูตรนานาชาติ ซึ่งได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าพันคอ mambrid Eco print พิมพ์ลายจากธรรมชาติ 100% ขึ้นมาจัดจำหน่าย รางวัลที่ 2 เป็นของทีม Moonsilk จากโรงเรียนบ้านแกใหญ่จังหวัดสุรินทร์และโรงเรียนนานาชาติเซนต์ แอนดรูว์ กรุงเทพฯ ที่ได้ร่วมกันผลิตสบู่โปรตีนไหมออกมาจัดจำหน่าย รางวัลที่ 3 เป็นของทีม TBS Team จากโรงเรียนบ้านทับเบิกร่วมใจจังหวัดเพชรบูรณ์และโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี กรุงเทพฯ ที่ได้ร่วมกันผลิตกระเป๋าผ้าสะพายปักลายม้งประยุกต์และกระเป๋าผ้าคล้องมือปักลายม้งประยุกต์ 




No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages