วช. จับมือ มรภ.สวนสุนันทา ชวนวัยใสทำ “ขนมกงเสริมอัลมอนด์” นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Monday 6 February 2023

วช. จับมือ มรภ.สวนสุนันทา ชวนวัยใสทำ “ขนมกงเสริมอัลมอนด์” นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

วช. จับมือ มรภ.สวนสุนันทา ชวนวัยใสทำ “ขนมกงเสริมอัลมอนด์” นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต ช่วยสืบสาน-อนุรักษ์ขนมไทยร่วมสมัยให้คงอยู่ต่อไป
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรียนรู้การอนุรักษ์วัฒนธรรมขนมไทยโบราณแบบ Function Food โดยการทำ “ขนมกงเสริมอัลมอนด์”  ที่ให้คุณค่าทางโภชณา ช่วยเสริมสุขภาพ สืบสานตำรับและวิธีการทำขนมไทยร่วมสมัยให้คงอยู่ต่อไป ในงาน “วันนักประดิษฐ์”  ประจําปี 2566 
วันนี้ (5 ก.พ.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช. ) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจําปี 2566 (Thailand Inventors’ Day 2023)  ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม” ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 24 ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.00-17.00 น. ณ อีเวนท์ ฮอลล์ 100-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา  
สำหรับหนึ่งกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจําปี 2566 ให้ความสนใจคือการอนุรักษ์วัฒนธรรมขนมไทยโบราณแบบ Function Food ขนมกงเสริมอัลมอนด์ โดยอาจารย์กมลวรรณ ตั้งเจริญบำรุงสุข หลักสูตรคหกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและเผยแพร่ตำรับขนมกงเสริมอัลมอนด์ที่ทำจากถั่วเขียวผสมเมล็ดอัลมอนด์ซึ่งเป็นอาหารฟังก์ชัน (Functional Food) แบบหนึ่ง เป็นการประยุกต์และเพิ่มทางเลือกในการใช้ประโยชน์จากพืชจำพวกเมล็ด และเพื่อเป็นการสืบสานตำรับและวิธีการทำขนมไทยร่วมสมัยให้คงอยู่ต่อไป 
ทั้งนี้อาหารฟังก์ชัน (Functional Food) คืออาหารหรือส่วนประกอบของอาหารที่มีการแยกออกมา ซึ่งไม่ได้ให้แค่คุณค่าทางโภชณาการเท่านั้น แต่มีประโยชน์อย่างอื่นด้วย โดยเฉพาะช่วยในการเสริมสุขภาพหรือเสริมสมรรถนะบางกระบวนการในร่างกาย 
อาจารย์กมลวรรณ เปิดเผยภายในห้องกิจกรรมว่า “ขนมกงหรือขนมกงเกวียน”  ขนมกงมีลักษณะเป็นรูปคล้ายกับกงล้อของเกวียน เป็นขนมไทยโบราณใช้ในงานแต่งงานมีความหมายคือเพื่อให้คู่บ่าวสาวครองรักกันตลอดไป และใช้ในงานประเพณีสารทเดือนสิบ นอกจากนี้กงล้อเกวียน หมายถึง พระธรรมจักร ขนมกงมีส่วนผสมคือ ถั่วเขียวคั่วน้ำตาล แป้งข้าวเหนียว และกะทิ นำส่วนผสมที่ปรุงสำเร็จแล้ว มาปั้นเป็นเส้นยาว จากนั้นทำเป็นวงกลมและภายในวงกลมจะปั้นเป็นเส้นกากบาทให้มีลักษณะคล้ายกงล้อเกวียน นำไปชุบแป้งทอดให้เป็นสีเหลืองทอง
อาจารย์กมลวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทำไมต้องเสริมอัลมอนด์” เพราะเมล็ดอัลมอนด์ (Almond) ได้ชื่อว่าเป็น King of Nuts ได้จากต้นอัลมอนด์ เป็นอาหารฟังก์ชัน (Functional Food) ชนิดหนึ่งที่มีสารช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ เสริมสร้างระบบคุ้มกันโรค ช่วยชะลอวัย บำรุงประสาท ป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจวาย โดยคุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดอัลมอนด์ (คิดต่อส่วนที่กินได้ 100 กรัม) จะถูกแบ่งออกเป็น พลังงานที่ได้รับ 576 กิโลแคลอรี โปรตีน 21 . 15 กรัม ไขมัน 49.93 กรัม คาร์โบไฮเดรต 21 . 55 กรัม เส้นใย 12.5 กรัม น้ำตาล 4. 35 กรัม แคลเซียม 269 มิลลิกรัม แมกนีเซียม 270 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 733 มิลลิกรัม ไรอะซีน 3.61 มิลลิกรัม วิตามินอี 25.63 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 3.71 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 481 มิลลิกรัม สังกะสี 3.12 มิลลิกรัม โฟเลต 44 มิลลิกรัม (อ้างอิง : กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข) 

โดยส่วนผสมสำหรับ 1 สูตร แบ่งออกเป็น 2 ส่วนผสม ดังนี้ 

ส่วนผสมที่ 1 ตัวขนมกง

ถั่วเขียว 200 กรัม
เมล็ดอัลมอนด์ 100 กรัม
งาขาวล้างน้ำคั่ว 50 กรัม
กะทิ 250 กรัม 
น้ำตาลทราย 150 กรัม 
น้ำตาลปี๊บ 100 กรัม
แป้งข้าวเหนียว 80 กรัม 
น้ำสำหรับนวดแป้ง 80 กรัม

วิธีทำ

1. นำเมล็ดอัลมอนด์ล้างน้ำหั่นหยาบๆ ใส่ถาดอบไฟ 170 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 25 ถึง 30 นาที พักให้เย็นปั่นให้ละเอียด
2. นำถั่วเขียวล้างน้ำ นำไปคั่วไฟอ่อน-ปานกลาง จนสีของเปลือกมีสีน้ำตาลอ่อน พักให้อุ่น นำไปปั่นให้ละเอียด
3. งาขาวแช่น้ำ 30 นาที เทน้ำออกนำไปคั่วจนเมล็ดงาพองมีสีเหลืองทอง ไปปั่นให้ละเอียด พักไว้
4. นำเมล็ดอัลมอนด์ที่ปั่นไว้ผสมร่วมกับถั่วเขียวและงาที่ปั่นไว้ ใช้พายยางคนส่วนผสมให้เข้ากัน
5. นำกะทิ น้ำตาลทรายและน้ำตาลปี๊บใส่หม้อ ตั้งไฟ คนให้ละลาย พอส่วนผสมเดือดทั่วสักครู่ พักไว้
6. นำแป้งข้าวเหนียวใส่น้ำให้พอนวดได้ จากนั้นนวดแป้งประมาณ 10 นาที
7. นำน้ำเปล่าใส่หม้อประมาณครึ่งหม้อ ตั้งไฟต้มให้เดือดใส่ใบเตย 4-5 ใบ จากนั้นนำแป้งข้าวเหนียวที่นวดไว้ นำมาแผ่แป้งเป็นแผ่นหนาประมาณ 0.5 เซนติเมตร นำไปต้ม พอแป้งสุกจะลอย ตักแป้งที่ลอยนำไปผสมกับส่วนผสมในข้อที่ 4 ผสมให้พอแป้งกระจาย
8. นำน้ำเชื่อมที่ทำไว้ในข้อที่ 5 ค่อยๆ เทลงผสม นวดส่วนผสมให้เข้ากัน พักไว้ 1 ชั่วโมง ปั้นเป็นรูปกรงล้อเกวียน
9. นำกระทะใส่น้ำมันปาล์มเมื่อร้อนได้ที่นำตัวขนมที่ปั้นไว้ชุบแป้งลงทอด เมื่อด้านล่างเหลือง ใช้ไม้กลับด้านล่างขึ้น ทอดต่อจนขนมสุกเสมอกันทั้งสองด้าน ตักขึ้นพักบนตะแกรงให้สะเด็ดน้ำมัน

ส่วนผสมที่ 2 แป้งสำหรับชุบขนมกง
แป้งสาลีเอนกประสงค์ 80 กรัม
แป้งข้าวเจ้า 20 กรัม
เกลือป่น 1/2 ช้อนชา
น้ำมันพืช 25 กรัม
น้ำ 130 กรัม
ไข่แดงของไข่ไก่ 1 ฟอง
น้ำปูนใส 20 กรัม

วิธีทำ
นำแป้ง แป้งสาลีเอนกประสงค์ แป้งข้าวเจ้า และเกลือป่นผสมกัน ทำบ่อตรงกลาง ใส่ไข่แดงและน้ำมันผสมให้เข้ากัน เติมน้ำพอให้สามารถนวดได้ นวดต่อประมาณ 10 นาที ค่อยๆ เทน้ำที่เหลือละลายพอเข้ากัน อย่าให้ส่วนผสมใส่มากนัก เติมใส่น้ำปูนใสคนให้เข้ากัน พักไว้ 30 นาที นำขนมกงที่ปั้นไว้มาชุบทอด

ทั้งนี้ การอนุรักษ์วัฒนธรรมขนมไทยโบราณแบบ Function Food ขนมกงเสริมอัลมอนด์ เพื่อสนับสนุนบ่มเพาะพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชัน ประยุกต์และเพิ่มทางเลือกในการใช้ประโยชน์จากพืชจำพวกเมล็ด สืบสานตำรับและวิธีการทำขนมไทยร่วมสมัยให้คงอยู่ต่อไป รวมถึงเมื่อมีความเชี่ยวชาญจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจของผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชั่นได้





No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages