TMF POWER FOR CHANGE โครงการพัฒนาสื่อดีสื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคม - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Monday 22 August 2022

TMF POWER FOR CHANGE โครงการพัฒนาสื่อดีสื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคม

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดผลสำรวจความคิดเห็นจากการโรดโชว์จัดกิจกรรมสัญจร “TMF POWER FOR CHANGE สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม” ชี้ปมปัญหาสื่อหลัก ทั้งการหลอกลวงในช่องทางออนไลน์และโทรศัพท์ ปัญหาข่าวปลอม หรือข่าวลวง (Fake News) ทางสื่อโซเชียลมีเดีย รวมถึงการระรานในโลกออนไลน์ เผยส่วนใหญ่ต้องการให้เกิดการผลิตสื่อที่ให้ความรู้เรื่องเฟคนิวส์ ส่งเสริมการผลิตสื่อสร้างสรรค์ประเภทละคร ภาพยนตร์ หนังสั้น การ์ตูนแอนิเมชัน การจัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านการผลิตและเฝ้าระวังสื่อ เด็กและเยาวชน ควรได้รับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมสนับสนุนการให้ทุนผลิตสื่อที่เป็นประเด็นทางสังคมมากขึ้น 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานเปิดกิจกรรม “TMF POWER FOR CHANGE  สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม” ครั้งที่ 4 ภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งเป็นเวทีสุดท้าย ภายใต้โครงการจัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค ประจำปี 2565 ซึ่งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (Thai Media Fund : TMF) จัดขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันสื่อ การผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม 

โดยมี ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ประชาชน และสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน

ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างระบบนิเวศสื่อที่ดี ด้วยการสนับสนุนให้เกิดกระบวนการคัดกรองสื่อปลอดภัย สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรชุมชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน การขยายเครือข่ายด้านสื่อปลอดภัย สร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล รวมถึงการนำต้นทุนทางวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตที่เป็น Soft Power มาสร้างสรรค์สื่อเพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างมูลค่าเพิ่มและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้จัดจัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “กองทุนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์สังคม” โดยใช้ชื่อ “TMF POWER FOR CHANGE สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม” จำนวน 4 ครั้ง ครอบคลุม 5 ภูมิภาค เริ่มจาก ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งได้รับความสนใจและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนอย่างดียิ่ง

ด้าน ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า การจัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนใน 3 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคใต้ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงราย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดอุดรธานี มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวมทั้งสิ้น จำนวน 1,244 คน ซึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมกิจกรรม พบประเด็นสำคัญด้านการเฝ้าระวังสื่อ โดยร้อยละ 68.22 ต้องการให้ส่งเสริมการผลิตสื่อประเภทภาพยนตร์ ละคร หนังสั้น การ์ตูนแอนิเมชันเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้รับชมได้ในวงกว้าง, ร้อยละ 57.94 ต้องการให้มีการจัดกิจกรรมฝึกอบรม สัมมนา ให้ความรู้ในการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตสื่อ ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น, ร้อยละ 56.82 ต้องการให้ส่งเสริมการสร้างสรรค์สื่อที่ให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนเรื่องข่าวปลอม หรือข่าวลวง (Fake News) ได้ และร้อยละ 47.29 เห็นว่ากลุ่มที่ควรได้รับสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มากที่สุดคือ กลุ่มเด็กและเยาวชนในระดับมหาวิทยาลัย

ด้านการสนับสนุนทุน พบว่า ร้อยละ 91.02 เห็นด้วยกับการให้ทุนสนับสนุนการผลิตสื่อที่เป็นประเด็นเร่งด่วน ประเด็นสาธารณะ และประเด็นทางสังคมให้มากขึ้น ส่วนด้านการดำเนินงาน พบว่า ร้อยละ 60 เห็นว่าควรสนับสนุนการสร้างสื่อที่ปกป้องความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้ประชาชนอย่างทั่วถึง และร้อยละ 57 เห็นว่าควรประสานการทำงานเครือข่ายในระดับชุมชนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ของตนเองได้ 

ในขณะเดียวกันปัญหาของสื่อที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ด้วยการส่งข้อความทางแอปพลิชันไลน์ การส่งอีเมลแอบอ้างเป็นผู้ให้บริการบัญชีอีเมลเพื่อขอชื่อบัญชีผู้ใช้งาน (email address) และรหัสผ่าน (password) รวมถึงการโทรศัพท์หลอกลวงเพื่อขอข้อมูลส่วนบุคคล 2.ปัญหาข่าวปลอม หรือข่าวลวง (Fake News) ทางสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม และ 3.ปัญหาการระรานในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ส่วนข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้แก่ การจัดสรรงบประมาณการสนับสนุนทุนโดยจำแนกเป็นกลุ่มภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และกลุ่มประชาชนทั่วไป การกำหนดแนวทางการดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายในระดับภูมิภาค จังหวัด และชุมชนอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมให้เกิดการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชน ตลอดจนการให้ความสำคัญกับการผลิตและเฝ้าระวังสื่อที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสื่อออนไลน์ 

ดร.ธนกร กล่าวว่า การลงพื้นที่จัดเวทีส่งเสริมการส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค ทำให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้เห็นถึงความท้าท้ายในการแก้ไขปัญหาและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เช่น การที่เครือข่ายในแต่ละภูมิภาคและจังหวัดมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน จึงต้องกำหนดเป้าหมายการให้ทุนที่ชัดเจน การทำความเข้าใจและปรับยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมกับการสร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์โดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้คนในสังคมและปัญหาที่เกิดขึ้น การจัดสรรทุนสำหรับสร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้เข้าถึงคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม รวมถึงการเป็นผู้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปกป้องประชาชนจากการถูกหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์และการให้ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กและเยาวชน 

“สำหรับ TMF POWER FOR CHANGE  ครั้งที่ 4 ภาคกลางและภาคตะวันออกเป็นเวทีส่งท้าย โดยข้อคิดเห็นจากกิจกรรมสัญจร 5 ภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น การเฝ้าระวังสื่อไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ที่ยังคงพบเห็นได้จากสื่อกระแสหลัก จำนวนมากนำเสนอสื่อที่มีความรุนแรง เนื้อหาการนำเสนอของสื่อกระแสหลักยังไม่สามารถผลักดันประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายเครือข่ายที่กว้างขวางมากขึ้น จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เกิดนิเวศสื่อที่ดีในสังคมไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากบทสรุปการถอดบทเรียนเพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติต่อไป” ดร.ธนกร กล่าว 


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages