ดันกทม.เมืองต้นแบบ ให้เงินอุดหนุนเด็กยากจนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล พร้อมวางระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนทุกมิติเป็นรายคน
เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2565 ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง สภากรุงเทพมหานคร ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดวงคุย “ยุติปัญหา กทม. เมืองแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” โดยมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร และตัวแทนจากสภาเด็กและเยาวชน กทม. เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้สภา กทม. กำลังพิจารณาร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 หนึ่งในข้อกังวลที่ถูกสะท้อนผ่าน ส.ก. ทั้ง 50 เขต คือปัญหาเศรษฐกิจและค่าครองชีพประชาชน โดยผลสำรวจล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าครัวเรือนใน กทม. มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนสูงกว่าค่าเฉลี่ยครัวเรือนทั่วประเทศถึง 1.5 เท่า พบปัญหาเด็กได้รับผลกระทบและมีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา
“สถานการณ์โควิด-19 และปัญหาความเหลื่อมล้ำใน กทม. ส่งผลโดยตรงต่อเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีฐานะทางบ้านยากจนถึงยากจนพิเศษ พวกเขากำลังเผชิญกับความยากลำบาก และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตที่จะต้องตัดสินใจว่าจะเรียนต่อหรือหยุดการเรียนกลางคัน ปัญหานี้เป็นเรื่องเร่งด่วน และเป็นหน้าที่โดยตรงของ ส.ก. ทั้ง 50 เขต ที่จะเข้ามามีบทบาทช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา”
นายวิรัตน์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา กทม. ไม่มีฐานข้อมูลเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดระบบการศึกษาของโรงเรียนในสังกัด 437 แห่ง ขณะนี้ ส.ก. จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาโดยร่วมสำรวจข้อมูลเด็กกลุ่มเสี่ยงให้กับ กสศ. ซึ่งทราบว่ากำลังทำงานกับสำนักการศึกษาในการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลนักเรียนโรงเรียนสังกัด กทม. เป็นครั้งแรก
“ผมเชื่อว่างานนี้ไม่เกินกำลังความสามารถหาก ส.ก. ทั้ง 50 เขต จับมือกับฝ่ายบริหาร สำนักงานเขต และ กสศ. พัฒนากลไกการทำงานร่วมกับชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ ในการเข้าถึงและพัฒนาระบบรองรับที่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชนแต่ละคน วันนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในทางประวัติศาสตร์ที่สภา กทม. และ ส.ก. จากทุกพรรค ทุกกลุ่มการเมือง จะร่วมกันประกาศความพร้อมในการเป็นกลไกประสานความร่วมมือกับทุกฝ่าย เพื่อเดินหน้ายุติปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้สำเร็จ เพราะนี่คือ สภา กทม. ยุคใหม่ สภาที่เป็นที่พึ่งของประชาชน” ประธานสภา กทม. ระบุ เสนอ สภา กทม. พิจารณาแปรญัติเงินอุดหนุนการศึกษา สร้างเมืองต้นแบบดูแลเด็กตั้งแต่ปฐมวัยถึง ม.ปลาย
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลของ กสศ. ทั่วประเทศ พบว่าในปี 2563–2565 นักเรียนช่วงชั้นปฐมวัยซึ่งเป็นช่วงวัยก่อนเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 กำลังเผชิญปัญหาภาวะเรียนรู้ถดถอย หรือ Learning loss สูงมาก ยกตัวอย่างผลทดสอบจากโจทย์พื้นฐานอย่างการเรียงเลขจาก 0–9 พบว่า หลังปิดเรียนนานเด็กจำนวนมากไม่สามารถเรียงเลขได้ถูกต้อง ไม่สามารถตอบได้ว่าคืออะไร ข้อมูลส่วนนี้สะท้อนว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมาทักษะการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยถดถอยลงมาก โดยพบว่านักเรียนยากจนและยากจนพิเศษมีภาวะเรียนรู้ถดถอยมากกว่าเด็กทั่วไป นี่คือวิกฤตทางการศึกษาที่จะส่งผลให้มีความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น
“เราเลือกโจทย์การประเมินที่ง่ายที่สุดสำหรับเด็ก 5 ขวบ หรืออนุบาล 3 ให้เขานับเลข 0 ถึง 9 มีเด็กจำนวนมากที่ไม่สามารถแยกได้ว่าเลขไหนคือเลข 0 1 2 3 ถึง 9 ผมมองว่าเป็นวิกฤต โดยเฉพาะสำหรับเด็กช่วงปฐมวัยเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้”
ดร.ไกรยส กล่าวต่อไปว่า จากปัญหาดังกล่าว กสศ. จะร่วมทำงานกับครูโรงเรียน กทม. สำรวจข้อมูลเพื่อคัดกรองนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษให้เข้าถึงทุนการศึกษา และวางระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนทุกมิติเป็นรายคน
นอกจากนี้ กสศ. มีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อปรับปรุงนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ในรายการปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนซึ่งที่ผ่านมาเด็กนักเรียนสังกัด กทม. ยังไม่เคยได้รับเงินอุดหนุนส่วนนี้ จึงเสนอให้สภา กทม. พิจารณางบประมาณดูแลนักเรียนให้ครอบคลุมตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมปลาย ในอัตราที่สอดคล้องกับค่าครองชีพ คือ อนุบาลคนละ 1,000 บาท/ปี ประถมศึกษาคนละ 2,000 บาท/ปี มัธยมต้นคนละ 4,000 บาท/ปี และมัธยมปลายคนละ 6,000 บาท/ปี ซึ่ง กสศ. พร้อมสนับสนุนข้อมูลให้สภา กทม. ประกอบการพิจารณา
ทั้งนี้หากสภา กทม. สามารถจัดสรรทุนปัจจัยพื้นฐานให้กับนักเรียนยากจนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมปลายได้ กทม. จะเป็นโรงเรียนสังกัดแรกในประเทศไทยที่สามารถดูแลนักเรียนยากจนได้ทั้งระบบ เนื่องจากที่ผ่านมาโรงเรียนสังกัดอื่น ๆ ยังจัดสรรได้เฉพาะชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมต้นเท่านั้น
เปิดข้อมูล กทม. เมืองเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ด้าน ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวเสริมว่า ข้อมูลสำนักงานสถิติและสังคมแห่งชาติปี 2565 พบว่าภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของเด็กกรุงเทพฯ อายุ 15 ปีลงมา มีมูลค่าสูงถึง 37,257 บาท เมื่อเทียบกับกับค่าเฉลี่ยของประเทศซึ่งอยู่ที่ 17,832 บาท พบว่าต่างกันเกือบ 2 เท่า เมื่อนำข้อมูลเด็กในกรุงเทพฯ ที่ยากจนที่สุดร้อยละ 10 มาเปรียบเทียบกับเด็กที่ร่ำรวยที่สุดร้อยละ 10 พบว่ามีค่าใช้จ่ายต่างกันมาก เด็กกลุ่มที่จนที่สุดมีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาอยู่ที่ประมาณคนละ 6,600 บาทต่อปี ขณะที่กลุ่มเด็กที่รวยที่สุดมีค่าใช้จ่ายคนละ 78,200 บาทต่อปี หรือห่างกันประมาณ 12 เท่า ซึ่งรวมไปถึงจังหวัดรอบ ๆ กรุงเทพฯ ก็จะมีข้อมูลที่คล้ายกัน
จากข้อมูลที่ กสศ. สำรวจนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษของโรงเรียนสังกัด สพฐ. ในพื้นที่ กทม. พบว่ากลุ่มครัวเรือนยากจนมีรายได้เฉลี่ยเพียงเดือนละ 1,964 บาท เมื่อเทียบกับเส้นความยากจนของประเทศซึ่งอยู่ที่ครัวเรือนละ 2,762 บาท พบว่าต่างกันกว่า 2 เท่า นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ 75 ของเด็กกลุ่มนี้ครอบครัวมีรายได้ทางเดียว ผู้ปกครองส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้น การดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยงให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาจึงมีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่น
No comments:
Post a Comment