นักวิจัย ไบโอเทค สวทช. ร่วมกับ FIMECS, Inc. ประเทศญี่ปุ่น ใช้เทคโนโลยี PROTAC หวังช่วยพัฒนายาต้านมาลาเรียแบบใหม่ โดยได้รับทุนวิจัยกว่า 27 ล้านบาท จากกองทุน Global Health Innovative Technology Fund (GHIT) - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Monday 24 January 2022

นักวิจัย ไบโอเทค สวทช. ร่วมกับ FIMECS, Inc. ประเทศญี่ปุ่น ใช้เทคโนโลยี PROTAC หวังช่วยพัฒนายาต้านมาลาเรียแบบใหม่ โดยได้รับทุนวิจัยกว่า 27 ล้านบาท จากกองทุน Global Health Innovative Technology Fund (GHIT)

ข้อมูลขององค์กรอนามัยโลกเปิดเผยว่าในปัจจุบันมีผู้ป่วยจากโรคมาลาเรียทั่วโลกมากกว่า 200 ล้านคนต่อปีและมีผู้เสียชีวิตปีละประมาณ 400,000 คน การรักษาโรคมาลาเรียที่ผ่านมาสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยการใช้ยาต้านมาลาเรีย แต่ในปัจจุบันปรสิตที่ทำให้เกิดมาลาเรียพัฒนาตนเองจนต้านยารักษาได้สำเร็จ หากไม่มีการคิดค้นเป้าหมายยาและยาชนิดใหม่อย่างเร่งด่วนมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2050 จะมีผู้เสียชีวิตจากทั่วโลกหลายล้านคน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับ FIMECS, Inc. ประเทศญี่ปุ่น จัดทำโครงการการค้นหาและประเมินศักยภาพของเอนไซม์ไลเกสชนิด E3 ของเชื้อมาลาเรียเพื่อใช้ในเทคโนโลยีฐาน PROTAC (Identification and Validation of Potential Plasmodium E3 Ligases for PROTAC Platform) เพื่อใช้ในการพัฒนาเป็นยาต้านมาลาเรียชนิดใหม่ได้ในอนาคต
ดร.นิติพล ศรีมงคลพิทักษ์ นักวิจัย ทีมวิจัยการออกแบบและวิศวกรรมชีวโมเลกุลขั้นแนวหน้า ไบโอเทค สวทช. ให้ข้อมูลว่า PROteolysis-TArgeting Chimeras หรือ PROTACs เป็นโมเลกุลยาขนาดเล็กรูปแบบใหม่ที่สามารถย่อยสลายโปรตีนเป้าหมายผ่านกลไก ubiquitin/proteasome ภายในเซลล์ได้ ซึ่งความสามารถในการย่อยสลายโปรตีนนี้ ทำให้ PROTACs มีศักยภาพในการนำมาใช้เพื่อรักษาอาการของโรคได้ การใช้ PROTAC เป็นยานั้นถือเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ในการออกแบบยาที่สามารถมุ่งเป้าไปที่เป้าหมายยาได้หลากหลาย แม้กระทั่งเป้าหมายเก่าที่เคยใช้เป็นเป้าหมายยามาก่อนก็สามารถใช้วิธีนี้ในการทำได้ กลไกการทำงานของ PROTACs จะเป็นการเชื่อมต่อ E3 ubiquitin ligase เข้ากับโปรตีน E3 ligase สามารถเข้าย่อยสลายโปรตีนเป้าหมายโดยการทำให้โปรตีโซม (proteosome) แตกตัว  ปัจจุบันมีการพัฒนาการใช้ PROTAC ในการพัฒนายาต้านมะเร็งในระดับคลินิก แต่ยังไม่มีการประยุกต์ใช้ PROTAC ในโรคติดเชื้อมาก่อน

ดร.นิติพล ให้ข้อมูลต่อไปว่า เชื้อมาลาเรียมีกลไกของ ubiquitin/proteasome เช่นเดียวกับโรคไม่ติดต่อ แต่ในปัจจุบันกลไกนี้ยังไม่มีการศึกษามากนัก ทีมวิจัยจึงประยุกต์ใช้เทคนิคทางเคมีและพันธุศาสตร์ในการค้นหาและตรวจสอบเอนไซม์ E3 ligase และลิแกนด์ของ E3 ligase ที่สามารถย่อยสลายโปรตีนเป้าหมายของเชื้อมาลาเรีย โดยองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการนี้จะสามารถเป็นใช้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการพัฒนายาต้านมาลาเรียต่อไปได้ในอนาคต ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ทางไบโอเทค สวทช. จะดำเนินการร่วมกับ FIMECS, Inc. ประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจำนวน 27,471,017 บาท (USD 838,587) จาก The Global Health Innovative Technology Fund 
กองทุน Global Health Innovative Technology Fund (กองทุน GHIT Fund) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่น (กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ) บริษัทยา และบริษัทชุดทดสอบเพื่อการวินิจฉัย 16 แห่ง มูลนิธิ Bill & Melinda Gates, Wellcome Trust และ United Nations Development Program (UNDP) เพื่อสนับสนุนทุนวิจัยแก่การวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการยับยั้งการติดเชื้อ (anti-infective) และเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยสำหรับโรคที่ส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนา




No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages