ลดพฤติกรรมการกินเค็มและลดความดันโลหิตด้วยอุปกรณ์วัดปริมาณเกลือในอาหาร หรือ Salt Meter - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Wednesday 20 October 2021

ลดพฤติกรรมการกินเค็มและลดความดันโลหิตด้วยอุปกรณ์วัดปริมาณเกลือในอาหาร หรือ Salt Meter

โดย รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิรินพ.ศิริชัย วิริยะธนากรและรศ.นพ.ธีรภัทร ยิ่งชนม์เจริญและคณะผู้วิจัย เครือข่ายลดบริโภคเค็ม

โรคความดันโลหิตสูง เพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองตีบ/แตก อย่างมีนัยสำคัญ และการที่เราสามารถลดความดันโลหิตลงได้ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าว ในประเทศไทย แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยความดันโลหิตสูงรายใหม่มีเพิ่มขึ้นทุกปี แต่กลับมีเพียง 30% เท่านั้นที่ควบคุมความดันให้อยู่ในเกณฑ์ได้ ปัจจัยสำคัญโดยเฉพาะในคนเอเชีย ที่ส่งผลต่อความดันโลหิตสูงคือการบริโภคเกลือ โดยเฉพาะเกลือโซเดียมที่มากเกินไปจะส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น จากรายงานผลการสำรวจล่าสุดในปีที่ผ่านมา โดยเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สสส. ร่วมกับคณะสาธารณสุข ของมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วประเทศ และสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย พบว่า คนไทยบริโภคเกลือเฉลี่ยวันละ 9.1 กรัม ซึ่งสูงกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 5 กรัมต่อวัน ไปถึงเกือบ 2 เท่า ซึ่งนับเป็นปัญหาสำคัญของคนไทย นอกจากนี้ การบริโภคเค็มเป็นเวลานาน จะทำให้ติดรสเค็ม และมีความไวต่อการรับรู้รสเค็มที่ลดลง เรียกว่า เคยชินกับความเค็ม ไปด้วย

คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารนานาชาติ The Journal of Clinical Hypertension เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นงานวิจัยในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ยังควบคุมไม่ได้ (ไม่ว่าจะรับประทานยาลดความดันโลหิตหรือยังไม่ได้เริ่มยาก็ตาม) โดยนำเอาอุปกรณ์เครื่องวัดปริมาณโซเดียมในอาหารหรือเครื่องวัดเกลือ (Salt meter) ที่ทำให้ทราบปริมาณความเค็มในอาหารที่จะบริโภคภายในเวลาไม่กี่วินาที โดยจุ่มลงไปในน้ำแกงหรือซุป เครื่องจะวัดความเข้มข้นของเกลือจากระดับความเหนี่ยวนำไฟฟ้าของน้ำแกงและแสดงค่าระดับความเค็มเป็นเปอร์เซ็นต์เกลือและการแสดงออกของใบหน้าบนหน้าจอ โดยระดับความเค็มที่เหมาะสมจะแสดงผลเป็นหน้ายิ้ม ระดับความเค็มปานกลางเป็นหน้านิ่งเฉย และระดับเค็มมากเป็นหน้าเศร้า เครื่องวัดเกลือนี้ถูกพัฒนาโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนำมาใช้ในสถานการณ์จริง โดยให้กับผู้ป่วยไปใช้ที่บ้านร่วมกับการให้ความรู้โดยนักโภชนาการเกี่ยวกับการลดบริโภคเค็ม เปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการให้ความรู้เพียงอย่างเดียว โดยติดตามผลที่ 8 สัปดาห์ หรือประมาณ 2 เดือน

ผลการศึกษาพบว่า ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้ใช้เครื่องวัดเกลือ (Salt meter) ร่วมด้วย จะมีการบริโภคเกลือที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (วัดจากปริมาณเกลือโซเดียมที่ขับออกในปัสสาวะ 24 ชั่วโมงซึ่งเป็นวิธีมาตรฐาน) โดยปริมาณลดลงไปถึง 31 มิลลิโมลต่อวัน เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมซึ่งแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อดูในด้านของความดันโลหิต ยังให้ผลที่น่าพึงพอใจ โดยในกลุ่มที่ใช้อุปกรณ์เครื่องวัดเกลือ (salt meter) มีความดันโลหิตซิสโตลิก (systolic blood pressure) ลดลงไปถึง 14.4 มิลลิเมตรปรอท และความดันโลหิตไดแอสโตลิก (diastolic blood pressure) ลดลงไป 5.5 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ ทางคณะผู้วิจัยได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อทำการทดสอบความไวของการรับรู้รสเค็มของลิ้นซึ่งจะแย่ลงในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและในผู้ที่บริโภคเค็มเป็นเวลานาน พบว่า มีแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงความไวในการรับรู้รสเค็มไปในทางที่ดีขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้ใช้อุปกรณ์เครื่องวัดเกลือในอาหาร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงความไวในการรับรู้รสเค็มของลิ้นจะเป็นตัวช่วยในการแยกแยะอาหารที่มีเกลือเป็นองค์ประกอบในปริมาณที่สูงได้ดีขึ้นต่อไปในอนาคต ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาเครื่องวัดเกลืออีก

โดยสรุป จากงานวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งเป็นการนำอุปกรณ์เครื่องวัดเกลือในอาหาร หรือ salt meter นี้ไปใช้จริงในทางปฏิบัติ พบว่ามีประโยชน์ในการช่วยปรับพฤติกรรมทำให้ลดการบริโภคเกลือ ปรับลิ้นให้มีความไวในการรับรู้รสเค็มได้ดีขึ้น และส่งผลให้มีความดันโลหิตที่ควบคุมได้ดีขึ้นมาก ซึ่งระยะยาวก็น่าจะส่งผลช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ช่วยลดอัตราการเสียชีวิต และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงจากการต้องกินยาลดความดันโลหิต และในระยะยาว หากอุปกรณ์นี้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในครัวเรือน ร้านอาหารในชุมชน ในโรงเรียน ก็จะส่งผลดีต่อภาพรวมทางสาธารณสุขทั่วประเทศอีกด้วย



                                           

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages