62 ปี วช. เปิดตัว เด็กเก่ง คิดค้น “ถุงตอนกิ่งสำหรับมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง” รักษ์โลก คว้ารางวัลสิ่งประดิษฐ์ ระดับนานาชาติ มาครอง - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Thursday 28 October 2021

62 ปี วช. เปิดตัว เด็กเก่ง คิดค้น “ถุงตอนกิ่งสำหรับมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง” รักษ์โลก คว้ารางวัลสิ่งประดิษฐ์ ระดับนานาชาติ มาครอง

วันที่ 28 ตุลาคม 2564 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดแถลงข่าว “NRCT Talk: 62 ปี วช. เปิดตัวผลงานสิ่งประดิษฐ์ “ถุงตอนกิ่งสำหรับมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง” ที่นำขยะทางการเกษตรมาพัฒนาเป็นถุงเพาะชำที่ให้ธาตุกับต้นไม้ได้ หนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่เข้าร่วมประกวดในเวทีนานาชาติงาน “The Innovation Week in Africa (IWA 2021) ณ ประเทศโมร็อกโก”  

นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.ได้ส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยในการนำผลงานที่มีคุณภาพและมีศักยภาพด้านการวิจัยและด้านการประดิษฐ์คิดค้น เข้าร่วมแสดงนิทรรศการและประกวดผลงานในเวทีระดับนานาชาติ นั้น ทำให้ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของคนไทยที่ไปเผยแพร่ เป็นที่รู้จักสามารถนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดผลงานให้ได้มาตรฐานเกิดการยอมรับในทางการตลาดและก้าวสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป ในครั้งนี้ วช. ได้สนับสนุนผลงานสิ่งประดิษฐ์ “ถุงตอนกิ่งสำหรับมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง” ของ นายพรหมพิริยะ ขัตติยวงษ์,นายนรากรณ์ ธนิกกุล, นายจิราวัฒน์ ศรีศิลป์โสภณ, นายอชิตพล จินดาพรรณ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5, และนายขุนทอง คล้ายทอง อาจารย์ที่ปรึกษา แห่ง โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี เข้าร่วมประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ ในงาน The Innovation Week in Africa (IWA 2021) ณ ประเทศโมร็อกโก” ในรูปแบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 8-12 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา และเป็นที่น่ายินดีที่ผลงานสิ่งประดิษฐ์ “ถุงตอนกิ่งสำหรับมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง” ได้รับรางวัลเหรียญทองมาครองได้สำเร็จ 

นายขุนทอง คล้ายทอง อาจารย์ที่ปรึกษา นายพรหมพิริยะ ขัตติยวงษ์ กล่าวว่า ประเทศไทยและทั่วโลก หันมานิยมบริโภคมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรเริ่มสนใจปลูกมะม่วงพันธุ์นี้มากขึ้นด้วยเช่นกัน จากการศึกษาพบว่า เกษตรกรนิยมใช้พลาสติกเป็นวัสดุห่อหุ้มวัสดุปลูก แต่เมื่อแกะถุงพลาสติกออกจะเกิดการกระทบกระเทือนราก ส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโต อีกทั้งพลาสติกเหล่านั้นที่ไม่สามารถนำไปใช้ต่อได้จึงกลายเป็นขยะตามมา และเมื่อพิจารณาถึงปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดจากเกษตรกรพบว่ามีจำนวนมากถึง 500 ล้านตันต่อปี จากปัญหาดังกล่าว สมาชิกในกลุ่มจึงมีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาทั้งสอง พร้อมกันนี้ยังมีแนวคิดเพิ่มคุณสมบัติพิเศษในการเพิ่มสารอาหารที่ช่วยให้เกิดการเจริญเติบโตที่ดี 

ด้าน นายพรหมพิริยะ ขัตติยวงษ์ หัวหน้าทีมนักประดิษฐ์ กล่าวต่อว่า ผลงานประดิษฐ์คิดค้นนี้ ได้เริ่มจากรายวิชาในชั้นเรียน โดยมองหาสิ่งใกล้ตัว ที่ต้องการการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ทำการทดลองแบบเน้นใช้วัสดุอุปกรณ์ใกล้ตัวที่ราคาไม่แพง ประหยัด เช่น การใช้แป้งมันสำปะหลัง เพื่อผลิตเป็นแผ่นฟิล์มสำหรับถุงตอนกิ่งมะม่วง เป็นการกระตุ้นการใช้ประโยชน์มันสำปะหลังในประเทศที่มีจำนวนมาก เกษตรกรสามารถใช้งานได้ง่าย และต่อยอดไปได้อีก

สำหรับกระบวนการผลิตถุงตอนกิ่ง ทีมวิจัยได้เลือกทำเป็นแผ่นฟิล์มที่สามารถย่อยสลายได้ เริ่มจากนำแป้งมันสำปะหลังมาผสมกับสารช่วยขึ้นรูป และได้เพิ่มคุณสมบัติของกากกาแฟและขี้เถ้าแกลบลงไป เนื่องจากกากกาแฟมีองค์ประกอบของแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของราก เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม รวมถึงยังมีสารที่สามารถขับไล่แมลงได้หลายชนิดในเวลาเดียวกัน ส่วนขี้เถ้าแกลบก็ประกอบด้วยแร่ธาตุหลายชนิด เช่น ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และแมกนีเซียม อีกทั้งยังเสริมความแข็งแรงให้กับถุงตอนกิ่ง พอถุงตอนกิ่งสำเร็จ นักเรียนได้นำไปทำการทดสอบค่ามาตรฐานต่าง ๆ จนพบว่าถุงตอนกิ่งที่ผลิตขึ้น มีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการนำไปใช้ได้จริง ซึ่งผลงานดังกล่าวอยู่ระหว่างการต่อยอดที่จะขยายสเกลการผลิตที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งอาจจะช่วยในการเพิ่มทางเลือกของเกษตรกรในอนาคตได้






No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages