อว. จับมือ สกสว. หารือนักวิจัย“เศรษฐกิจหมุนเวียนและพลังงาน” หนุน BCG Model ขับเคลื่อนประเทศ - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Thursday 23 September 2021

อว. จับมือ สกสว. หารือนักวิจัย“เศรษฐกิจหมุนเวียนและพลังงาน” หนุน BCG Model ขับเคลื่อนประเทศ

วันนี้ (23 กันยายน 2564) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุม “รมว.อว. พบนักวิจัย BCG กลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียนและพลังงาน” โดยมีการนำเสนอ 6 ตัวอย่างผลงานวิจัยจากนักวิจัยทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วย 1) Recycled Plastic Road Study จากขยะพลาสติกสู่ถนนสีเขียว 2) การยกระดับอุตสาหกรรม Biorefinery ของประเทศจากฐานความหลากหลายทางชีวภาพ 3) Circular Design แนวทางการสร้างมูลค่าอย่างสร้างสรรค์ 4) SCG Circular Product Innovation 5) สร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรและผลิตอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน และ 6) การผลิต Green Hydrogen นอกจากนี้ยังมีการหารือถึงแนวทางการทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สร้างโอกาสในการพัฒนาประเทศ 

โอกาสนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า กระบวนการทำงานวิจัยและนวัตกรรมในปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือในรูปแบบเครือข่าย ทั้งภาครัฐ สถาบันวิจัย และภาคเอกชน โดยนักวิจัยต้องทำร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategice Partner) ซึ่งการเรียนรู้จากภาคเอกชนจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนงานเชิงกลยุทธ์ โดยการขับเคลื่อนด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของประเทศนั้นในภาพรวมไม่สามารถทำได้ครบทุกเรื่อง เนื่องจากประเทศไทยมีทรัพยากรจำกัด ดังนั้นการลงทุนด้านการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมจำเป็นต้องมีจุดมุ่งเน้นในด้านที่ประเทศไทยให้ความสำคัญและมีโอกาสในการแข่งขันในระดับสากล อย่างเช่นการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ของประเทศซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมในการจัดการทรัพยากร โดยการเร่งสร้างตลาดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้น ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของกระทรวงในการดำเนินงานขับเคลื่อนในมิติต่าง ๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า กระทรวง อว. ได้สร้างผลลัพธ์และผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในระยะกลางและระยะยาว ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นประเทศรายได้สูงและเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยที่ผ่านมา สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้อนุมัติแผนด้านการอุดมศึกษาฯ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) โดยแผนทั้งสองด้านนั้นมีเป้าหมายที่ท้าทายร่วมกันคือการพาประเทศไทยสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี พ.ศ. 2580 

ทางด้าน ดร.จิตติ มังคละศิริ หัวหน้าหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ ววน. ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน สกสว. ได้รายงานสถานการณ์วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและพลังงานของประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันนานาประเทศทั่วโลกต่างมุ่งเน้นการสร้างการเติบโตจาการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อย่างเช่น สหภาพยุโรป (EU : European Union) มีการตั้งเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP : Gross Domestic Product) มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 0.5% ภายในปี พ.ศ.2573 ขณะที่ในประเทศไทยมีการประกาศให้ BCG Model เป็นวาระแห่งชาติ มีการตั้งเป้าหมายมูลค่า GDP ของ Bio-Circular-Green Economy เพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านบาท ภายในปี พ.ศ. 2570 โดยมีข้อมูลระบุว่าเดิมในปี พ.ศ. 2561 มีมูลค่าเศรษฐกิจหมุนเวียนอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนสูงที่สุดในโลกปัจจุบันคือประเทศเยอรมันนี ซึ่งมีปัจจัยเอื้อหลายประการอย่างเช่น การออกกฎหมายให้ประชาชนแยกขยะ, เก็บค่าทิ้งขยะตามปริมาณ, กฎหมายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน, กฎหมายให้ผู้ผลิตรับผิดชอบขยะ และกฎหมายอื่น ๆ จากประเด็นดังกล่าวทำให้สามารถมองย้อนกลับมาในประเทศไทยที่ยังมีโอกาสในการพัฒนาเพื่อก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งสามารถแก้ไขกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน และสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน นอกจากนี้ประเทศไทยยังจำเป็นที่จะต้องสร้างความตระหนักให้แก่สังคมช่วยผลักดันให้เกิดการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบยิ่งขึ้น รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีเป็นทางออกในการยกระดับการสร้างมูลค่าของสินค้าและบริการ และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ การประชุมในวันนี้ยังได้มีการร่วมหารือแนวทางการทำงานในรูปแบบการเชื่อมโยงจากภาคนโยบายสู่ภาคปฏิบัติ โดย สกสว. ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนา BCG Model ตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2563-2565 ฉบับปรังปรุงปีงบประมาณ 2565 ในส่วนแพลตฟอร์มที่ 3 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันพร้อมทั้งยกระดับการพึ่งพาตนเองในระดับประเทศ ที่ตั้งเป้าผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญภายในปี พ.ศ. 2565 เกิดเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) 100 ชิ้น เป็นกลไกสำคัญในการผลิตองค์ความรู้ สร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป








 

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages