สบส. เร่งสร้างทัศนคติคนไทยฉีดวัคซีนโควิด 19 สร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยชาติปลอดภัยจากโควิด 19 - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Tuesday 1 June 2021

สบส. เร่งสร้างทัศนคติคนไทยฉีดวัคซีนโควิด 19 สร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยชาติปลอดภัยจากโควิด 19

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) รับนโยบายกระทรวงสาธารณสุขเร่งสร้างทัศนคติและปลูกฝังพฤติกรรมและรณรงค์ให้คนไทยใส่ใจเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19  

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยมีนโยบายในการจัดสรรวัคซีนให้ทุกคนในประเทศไทยบนพื้นฐานของหลักการสิทธิมนุษยชน จริยธรรมและความเท่าเทียมกันตามความสมัครใจ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยเรื่องของวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนคนไทยเข้ามารับการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถดำเนินการต่อไปได้ในเรื่องอื่น ๆ เช่น การเปิดประเทศ และการกลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ของประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจในอนาคตเมื่อเราฉีดวัคซีนได้ครบก็จะทำให้เกิดประโยชน์ 3 อย่าง ได้แก่ 


1. ตัวเองมีภูมิคุ้มกัน ไม่แพร่เชื้อให้กับคนอื่นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ทำให้การติดเชื้อรุนแรงเกิดในคนไทยน้อยลง 


2. เมื่อฉีดแล้วอาการจะไม่รุนแรงและ 


3. เมื่อมีอาการไม่ถึงขั้นเสียชีวิตอย่างแน่นอน 

นพ.ธเรศ กล่าวว่า วัคซีน โควิด 19 เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการขับเคลื่อนพาสังคมไทยออกจากวิกฤติโควิด 19 วัคซีนคือสารชีววัตถุที่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรค  โดยทำงานเสมือนเป็นคู่ซ้อมให้ร่างกาย ได้ฝึกฝนกลไกการป้องกันโรคตามธรรมชาติให้รู้จักและมีความพร้อมในการต่อสู้กับเชื้อโรคจริง นอกจากนี้วัคซีนโควิด19 ทุกชนิดได้รับการรับรองว่ามีประสิทธิผลในการลด “การเจ็บป่วยรุนแรงและ การเสียชีวิต” จะเห็นได้ว่าในหลายประเทศสามารถควบคุมการระบาดได้และมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยลดลง ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อและแพร่เชื้อในสังคมได้ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องฉีด 2 เข็ม ถึงจะมั่นใจว่าร่างกายมีภูมิคุ้มกัน


นพ.ธเรศ กล่าวว่า การให้คนไทยได้รับวัคซีนโควิด19 โดยมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1. เพื่อรักษาระบบสุขภาพให้ดำเนินไปได้ โดยพิจารณาให้วัคซีนแก่บุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรด่านหน้าในการควบคุมโรค  2. เพื่อลดอัตราป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งจะให้วัคซีนแก่ประชากรกลุ่มเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต เช่น ผู้สูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัว หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ โรคอ้วน โรคหลอดเลือดสมอง ทางเดินหายใจเรื้อรัง ปอดอุดกันและไตวายเรื้อรัง และหลังจากนี้คาดว่าในไตรมาสที่ 3 และ 4 จะมีวัคซีนเพียงพอจนสามารถขยายการฉีดวัคซีนแก่ ประชาชนกลุ่มต่าง ๆให้ครบถ้วนตามลำดับต่อไปและในประชากรบางกลุ่ม เช่น กลุ่มอายุน้อยกว่า 18 ปี กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง ภูมิคุ้มกันบกพร่อง กลุ่มสตรีมีครรภ์และให้นมบุตร ควรได้รับการพิจารณาร่วมกับแพทย์ที่ดูแลแล้วว่ามีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง ดังนั้นจึงจำเป็นที่ทุกคนไม่ว่าจะได้รับวัคซีนแล้วหรือไม่จะยังต้องคงมาตรการควบคุมต่อไป

อธิบดีกรมสนับสนุนบริการ (สบส.) กล่าวต่อว่า อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม.จะมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการเรื่องวัคซีน โดยกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายที่จะฉีดวัคซีนให้กับ อสม.ทุกคน เพื่อเป็นต้นแบบด้านสุขภาพ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนถึงความปลอดภัยที่ประชาชนจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด 19 นอกจากนี้ อสม. ยังดำเนินการเคาะประตูบ้าน เชิญชวนคนในหมู่บ้าน ซึ่งอาศัยการดำเนินร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยใช้กลไกของ "3 หมอ" (อสม.หมอประจำบ้าน/หมอสาธารณสุข/หมอครอบครัว) ในการประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ประชาชนลงทะเบียนรับวัคซีน รวมทั้งการติดตามสังเกตอาการของประชาชนหลังการรับวัคซีนอีกด้วย


“การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีน เป็นภูมิคุ้มระดับประเทศที่ทำให้ทุกคนปลอดภัย เป็นที่ทราบกันว่า โควิด 19 เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ แพร่เชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อผ่านสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำตา น้ำลาย หรือผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่ พบได้ทุกเพศทุกวัย บางคนไม่มีอาการ อาการรุนแรงเล็กน้อย จนถึงอาการรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิต อาการที่พบบ่อยคือไอแห้งๆ ต่อเนื่อง จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส มีผื่น ท้องเสีย ตาแดง  ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนอยู่บ้านให้มากที่สุดเพื่อลดการติดเชื้อโควิด19 ส่วนสถานที่ทำงานขอให้เน้นการทำงานที่บ้าน (Work From Home) เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและไม่นำเชื้อจากนอกบ้านมาแพร่สู่คนในครอบครัว หากจำเป็นต้องเดินทางออกไปทำงานหรือออกไปทำธุระส่วนตัวนอกบ้าน ให้ปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด สำหรับมาตรการ  D-M-H-T-T-A ได้แก่ D : Distancing เว้นระยะระหว่างบุคคล หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น  M : Mask wearing สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา H : Hand washing ล้างมือบ่อย ๆ จัดให้มีจุดบริการเจลล้างมืออย่างทั่วถึงเพียงพอ T : Temperature ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าใช้บริการ เพื่อคัดกรองผู้ใช้บริการที่อาจไม่สบาย T : Testing ตรวจหาเชื้อโควิด19 และ A : Application ติดตั้งและใช้แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” และ “หมอชนะ” ก่อนเข้า-ออกสถานที่ทุกครั้ง นอกจากมาตรการต่าง ๆ แล้วการป้องกันที่ได้ผลดีเยี่ยมคือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด19  ทั้งนี้ประชาชนสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ที่สายด่วน สบส.คอลเซ็นเตอร์ 1426 และเว็บไซต์กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ https://hss.moph.go.th



 

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages