เผยผลสำรวจยุคสลากแพง ทุกข์ผู้ค้าสลากเข้าไม่ถึงราคาต้นทุน ต้องซื้อเพิ่มจากปั๊ว ชี้สำนักงานสลากแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ปรับตัวช้า ทำให้กิจการสลากบิดเบือนกลไกตลาด ขณะภาคเอกชน สบช่องทำธุรกิจกิจค้าสลากผ่านระบบออนไลน์ ส่งผลเยาวชนเข้าถึงง่าย - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Monday 29 March 2021

เผยผลสำรวจยุคสลากแพง ทุกข์ผู้ค้าสลากเข้าไม่ถึงราคาต้นทุน ต้องซื้อเพิ่มจากปั๊ว ชี้สำนักงานสลากแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ปรับตัวช้า ทำให้กิจการสลากบิดเบือนกลไกตลาด ขณะภาคเอกชน สบช่องทำธุรกิจกิจค้าสลากผ่านระบบออนไลน์ ส่งผลเยาวชนเข้าถึงง่าย

วันนี้ (29 มีนาคม 2564) ที่โรงแรมทีเคพาเลซ  แจ้งวัฒนะ เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน จัดเสวนาหัวข้อ “สลากแพงยุคโควิด...การเปลี่ยนผ่านสู่สลากออนไลน์” นายประสาน  น้อมจันทึก  เครือข่ายผู้ค้าสลาก5ภาค กล่าวว่า เครือข่ายฯ ร่วมกับ มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน สำรวจทุกข์ของผู้ค้าสลากในช่วงโควิด-19 ช่วงวันที่ 8-23 มี.ค. 2564 จากผู้ค้าสลาก1,145 คน พบว่า ร้อยละ 90 เป็นผู้มีอาชีพค้าสลากเป็นอาชีพหลัก ผู้ค้าสลากร้อยละ73 มีรายได้ไม่เพียงพอ เนื่องจากต้องรับภาระเรื่องต้นทุนการค้าสลาก ทั้งค่าเช่า ค่าเดินทาง ค่าเรียกเก็บจากเจ้าหน้าที่ ผู้ค้าสลากส่วนใหญ่ต้องการขายสลากมากกว่า 5 เล่ม ทำให้ต้องซื้อสลากเพิ่มจากปั๊วมาจำหน่ายต่อมีราคาสูงกว่า 8,000 บาทต่อเล่ม สำหรับการปรับตัวยุคโควิด-19 ร้อยละ53.3 เลือกที่จะลดจำนวนสลากในการขาย และต้องระวังตัวแบบ new normal เรื่องที่คับข้องใจที่สุดสำหรับผู้ค้าสลากคือ ร้อยละ 31.4 การซื้อสลากจากปั๊วในราคาแพง ถัดมาคือ ร้อยละ27.5 เข้าไม่ถึงโควตาสลาก ร้อยละ12.8 กังวลเรื่องการมีผู้ค้าสลากมากขึ้น และร้อยละ11.2 กลัวถูกล่อซื้อแจ้งจับถูกปรับ 

“ความต้องการรายได้ที่พอสำหรับเลี้ยงครอบครัวของผู้ค้าอยู่ที่ 10,000–30,000 บาท สำหรับทางเลือกที่ดีที่สุดที่สำนักงานสลากฯควรทำคือ จัดการระบบปั๊ว ทำให้ผู้ค้าสลากตัวจริงเข้าถึงสลาก ทำการสำรวจและลงทะเบียนผู้ค้าสลากอย่างจริงจัง อีกทั้งความไม่จริงใจแก้ปัญหาของรัฐบาล ทำให้ไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาสลากได้ หากกองสลากยังจัดการด้วยระบบนี้ ให้ระบบสัมปทานกับเอกชนเป็นผู้บริหารจัดการสลากยังจะดีกว่า และหากนำระบบออนไลน์มาใช้จริง เราพร้อมที่จะปรับตัว ขอเพียงอย่าทิ้งผู้ค้าสลากเดิมอยู่นอกระบบการจำหน่าย” นายประสาน  กล่าว


ผศ.ดร.รัตพงษ์  สอนสุภาพ  รองณบดีฝ่ายวิชาการวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า สลากคือสินค้าทางการเมือง สิ่งที่เป็นปัญหาอย่างหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ทางการเมือง หน้าที่หลักของสำนักงานสลากคือหารายได้เข้ารัฐ กิจการสลากเป็นกิจการที่ผูกขาดโดยรัฐ เป็นธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยง ในปีที่ผ่านมาสำนักงานสลากเป็นรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้เข้ารัฐมากที่สุดเป็นอันดับ 1  สำนักงานสลากเป็นส่วนผสมระหว่างระบบราชการแบบเก่ากับการปรับเข้าสู่ระบบธุรกิจสมัยใหม่ เรียกว่าองค์กรแบบผสม แต่มีการปรับตัวได้ล่าช้ากว่าองค์กรธุรกิจทั่วไป เพราะติดขัดอยู่กับระเบียบกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมาย รวมทั้งวัฒนธรรมองค์กร ทำให้กิจการสลากในประเทศบิดเบือนกลไกตลาด กล่าวคือ ทั้งการจำหน่ายสลากผ่านระบบโควตา และระบบจองสลากซื้อ ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นความต้องการซื้อจริงของตลาดหรือมีกลไกอื่นแทรกเพื่อบิดเบียนตลาดจากผู้ค้าสลากรายใหญ่และผู้มีอิทธิพลในตลาด “Digital Disruption ของธุกิจสลากในยุคปัจจุบันจะเป็นการต่อสู้ระหว่างช่องทางจำหน่ายสลากแบบเดิม ของผู้เล่นรายเก่า กับช่องทางใหม่ระบบ Online ผ่าน Platform จากโซเชียลมีเดียต่างๆของผู้เล่นใหม่ เช่น มังกรฟ้าล็อตเตอรี่ เสือแดงลอตเตอรี่ออนไลน์ ลอตเตอรี่ออน ไลน์ จำกัด (กองสลาก.com) และอาม่าล็อตโต้ออนไลน์ ทำให้สำนักงานสลากต้องปรับตัว ซึ่งเป็นบทท้าทายของสำนักงานสลากและรัฐบาล” ผศ.ดร.รัตพงษ์  กล่าว


นายพันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ ผู้บริหารบริษัทลอตเตอรี่ออนไลน์จำกัด กองสลาก.com กล่าวว่า จุดเริ่มต้นการเข้ามาทำธุรกิจ มาจากเห็นผู้ค้าสลากรายย่อยจำหน่ายกันทางแอพพลิเคชั่นไลน์ จึงตัดสินใจลงมือทำ หลังจากศึกษาวิจัยการตลาด ได้ตั้งเป้าขอส่วนแบ่งทางการตลาด ร้อยละ 1 จากสลากทั้งระบบ เริ่มต้นงวดแรกมีสลาก 5,000 ใบ ตอนนี้หาสลากได้งวดละ 300,000 ใบ เราจำหน่ายสลากในราคา 80 บาท เจ้าของสลากได้ส่วนแบ่งในใบละ 5 บาท ถ้าถามว่าสำนักงานสลากจำหน่ายสลากด้วยระบบออนไลน์ได้ไหม ขอชี้แจงว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากจะกระทบกับกลุ่มผู้ค้ารายย่อยในระบบเดิมหลายแสนคน เหมือนการไปแย่งอาชีพผู้ค้าเดิม  “ตอนนี้เราสามารถแก้ปัญหาราคาสลากเกินราคาได้ ด้วยระบบที่เรามี เมื่อเราได้ดำเนินธุรกิจ และลงทุนไปแล้วก็อยากจะดำเนินการต่อ เราไม่ได้เข้ามาเพื่อแย่งอาชีพผู้ค้ารายอื่น แต่คิดช่องทางการจำหน่ายหรือแพลทฟอร์มไว้แล้ว และแพลทฟอร์มนี้สามารถรองรับผู้ค้ารายย่อยให้เข้ามาในระบบโดยยังสร้างรายได้ได้เหมือนเดิม อยากฝากถึงสำนักงานสลากว่า หากต้องการช่วยผู้ค้ารายย่อยจริง เรายินดีจะเข้าไปเป็นที่ปรึกษาและวางระบบให้” นายพันธ์ธวัช  กล่าว


ด้านนางสาววศิณี  สนแสบ เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง กล่าวว่า การซื้อสลากออนไลน์เป็นการซื้อที่เข้าถึงง่ายมาก ยิ่งช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้คนส่วนใหญ่ไม่อยากออกจากบ้าน การที่มีสลากเปิดขายออนไลน์แบบนี้ อาจส่งผลให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย เสี่ยงที่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้ามาใช้บริการ  “เราไม่ทราบว่าการขายสลากออนไลน์มีมาตรการที่เข้มงวดมากน้อยแค่ไหน และสามารถตรวจสอบการเข้าถึงของเด็กที่อายุไม่ถึง 20 ปี ในการซื้อสลากออนไลน์หรือไม่ เท่าที่ทดลองลงทะเบียนซื้อ แค่กรอกข้อมูลว่าอายุเกิน 20 ปี ก็สามารถซื้อได้ ไม่มีระบบตรวจสอบว่าอายุเกิน 20 ปีจริงหรือไม่ ขอฝากให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีมาตราการที่เข้มงวดตรวจสอบได้จริงเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากสินค้าพนัน” นางสาววศิณี  กล่าว


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages