กรมอุทยานแห่งชาติฯ ลุยแม่ฮ่องสอน เน้นประชาชนมีส่วนร่วมใช้ประโยชน์จากป่าได้จริง - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Saturday 19 December 2020

กรมอุทยานแห่งชาติฯ ลุยแม่ฮ่องสอน เน้นประชาชนมีส่วนร่วมใช้ประโยชน์จากป่าได้จริง



กรมอุทยานแห่งชาติฯ ลุยแม่ฮ่องสอน สร้างความเข้าใจ รับรู้ต่อ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 (ฉบับใหม่) และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 (ฉบับใหม่) เน้นประชาชนมีส่วนร่วมใช้ประโยชน์จากป่าได้จริง


เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2563 ที่โรงเรียนบ้านไม้สะเป่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมสัญจรโครงการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารโดยมีนายคมกริช เศรษบุบผา   ผู้อำนวยการส่วนจัดการท่องเที่ยวและนันทนาการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน


นายคมกริช เศรษบุบผา ผู้อำนวยการส่วนจัดการท่องเที่ยวและนันทนาการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า เนื่องจาก พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)อุทยานแห่งชาติที่มีอยู่เดิมมีผลบังคับใช้มาเป็นเวลานาน ตั้งแต่ พ.ศ. 2504 ทำให้บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน  จึงได้มีการปรับปรุงให้เหมาะสม และตราพ.ร.บ.ใหม่ขึ้นในปี พ.ศ. 2562 เพื่อทำให้การปฏิบัติตามภารกิจมีประสิทธิภาพ และประชาชนยังใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและประชาชนในการดูแลพื้นที่ป่าให้เป็นประโยชน์ของประเทศ พร้อมนี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ดำเนินประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลข่าวสารที่สำคัญเกี่ยวกับกฎหมาย ภายใต้แนวคิด คนสมดุล ป่าสมบูรณ์  โดยการจัดเวทีเสวนาในครั้งนี้ นับเป็นกิจกรรมที่สำคัญในการสร้างการรับรู้ต่อภาคประชาชนโดยเฉพาะชุมชนโดยรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทำให้มีการสร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติให้มีความยั่งยืน เก็บไว้ให้ลูกหลานของพวกเราได้ใช้ประโยชน์ต่อไป 


นายคมกริช  กล่าวด้วยว่า พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562  ที่ได้มีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 เจตนารมณ์ที่สำคัญ คือ เป็นกฎหมายที่ทำให้เราอยู่รวมกันได้ “ป่าอยู่ได้... คนอยู่ได้” ตัวอย่างเช่น ในมาตรา 64 แห่งพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ให้มีการสำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัย หรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ ที่ได้มีการประกาศมาก่อนวันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ เพื่อนำไปสู่การจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ โดยมิได้สิทธิในที่ดินนั้น หากแต่สามารถอยู่อาศัย ทำกินได้ตามกรอบที่กฎหมายกำหนด 


ทั้งนี้ ชุมชน หมู่บ้านทั้งที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ หรืออยู่โดยรอบอุทยานแห่งชาติ และชุมชนที่เกี่ยวข้อง ล้วนมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งด้านการคุ้มครอง บำรุง ดูแลรักษา และใช้ประโยชน์ภายใต้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการได้รับอนุญาตเพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อความสมดุลและยั่งยืน ตลอดจนการมีส่วนร่วมจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องด้วย


ทั้งนี้ นอกจากสาระสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปถึงการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแล้ว พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และพ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ได้มีการเพิ่มบทกำหนดโทษ อัตราโทษที่มากขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อเทียบจาก พ.ร.บ. ฉบับเดิม และอีกหนึ่งเรื่องที่ได้เพิ่มเติมเข้ามาใน พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 คือ การจัดสรรรายได้ของอุทยานแห่งชาติส่วนหนึ่งจะใช้เพื่อการส่งเสริมการปฏิบัติงานและการพัฒนาพื้นที่ชุมชนรอบอุทยานแห่งชาตินั้นๆ ที่สำคัญรายได้ที่จัดเก็บก็เพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาพความปลอดภัย ความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย การให้บริการ  และการอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ ในอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน   สวนพฤกษศาสตร์ หรือสวนรุกขชาติ


นายคมกริช  กล่าวอีกว่า หนึ่งในหัวใจสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากร นั่นคือ “ผู้พิทักษ์ป่า” หรือเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทุกคน ที่ต้องเผชิญความเสี่ยงหลากหลายรูปแบบในการปฏิบัติหน้าที่ ข้อบัญญัติในกฎหมายใหม่ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จะทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ หรืออาสาสมัคร  ได้รับสวัสดิการเพิ่มมากขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตของเจ้าหน้าที่ได้รับการดูแลช่วยเหลือในทุก ๆ ด้าน เช่น การเยียวยา หากเกิดการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ หรือแม้แต่การสนับสนุนเงินเพื่อการสู้คดี หากมีการฟ้องร้องจากคู่กรณี ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนมีขวัญและกำลังใจที่ดีในการทำงานอนุรักษ์ผืนป่าของเมืองไทยต่อไป​


กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น แต่หัวใจสำคัญของการจะปกป้องผืนป่า สัตว์ป่า รวมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ มันคือการที่คนไทยทุกคน ได้เรียนรู้ว่า ป่านั้นสำคัญกับทุกคนมากแค่ไหน เมื่อเข้าใจเราก็จะรู้คุณค่าของป่า และจะไม่ทำลายมัน เพราะทุกคนจะเป็นผู้ดูและช่วยกันเป็นหูเป็นตา คอยสอดส่องแจ้งเบาะแสการกระทำผิดให้เจ้าหน้าที่ทราบเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป



นายเกียรติศักดิ์ วังวล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง กรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า  เนื่องจากพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติที่มีอยู่เดิมไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงได้มีการปรับปรุงให้เหมาะสมเพื่อทำให้การปฏิบัติการตามภารกิจมีประสิทธิภาพและประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดโดยเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและประชาชน ในการดูแลพื้นที่ป่าให้เป็นประโยชน์ภายใต้แนวคิด “คนสมดุล ป่าสมบูรณ์” ปัจจุบันทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีการจัดกำลังออกลาดตระเวนแนะนําระบบ สมาร์ท พาโทรล เข้าไปดำเนินการ เพื่อตรวจสอบ สถานการณ์ พันธุ์พืชและสัตว์ป่า ว่าอยู่ในภาวะอันตรายหรือไม่อย่างไรหรือบางพื้นที่อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะถูกทำลายหรือไม่ เพื่อที่จะได้มีการเข้าไปวางมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที



นางกนกพร จรรยาขจรกุล ผู้ใหญ่บ้านบ้านไม้สะเป่ หมู่ที่ 9 ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านบางส่วนในพื้นที่อยู่แบบไม่รู้ข้อกฎหมาย ในการใช้สิทธิพื้นที่ทำกินรวมถึงการล่าสัตว์หาของป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ แต่เมื่อมีเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานเข้ามาพูดคุยสร้างความเข้าใจ ทำให้คลายความกังวลต่อเรื่องการทำผิดกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายใหม่นี้มีความชัดเจนและเอื้อประโยชน์ต่อชาวบ้านมากขึ้น เช่น การกำหนดพื้นที่ทำกิน 3 แปลงต่อครัวเรือน ขณะเดียวกันชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจอนุรักษ์ป่าด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การบวชป่า การอนุรักษ์พันธุ์ปลา รวมถึงการเฝ้าระวังไฟป่าและการตัดไม้ทำลายป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ นอกจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ยังได้ชี้แจงชาวบ้านแต่ละครัวเรือน เพื่อสร้างความเข้าใจและความชัดเจนในการใช้พื้นที่ โดยกำหนดเขตรางวัดร่วมกันเพื่อป้องกันการรุกล้ำเขตป่าสงวน ทำให้ชาวบ้านมีความมั่นใจมากขึ้น

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages