15 ธันวาคม 2563โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ : นพ.เกรียงไกร ตั้งจิตรมณีศักดา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ กล่าวในงานเสวนาให้ความรู้ประชาชนเรื่อง “เทคโนโลยีในการผ่าตัดหัวใจและทรวงอก” ว่า โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ เป็นโรงพยาบาลตติยภูมิระดับสูง ที่ให้บริการตรวจรักษาประชาชนมาเป็นระยะเวลา 49 ปี โดยมีจำนวนผู้มารับการตรวจรักษาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยในปีนี้ศูนย์ศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ถูกยกระดับให้เป็นศูนย์การแพทย์ตติยภูมิแห่งแรกในโรงพยาบาล 11 แห่งในสังกัดกทม. ที่มีความสามารถในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจอย่างครบวงจร ดังนั้นการป้องกันและการวินิจฉัยในระยะเริ่มต้น การรักษาที่รวดเร็วโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การฟื้นฟูสมรรถภาพเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ตลอดจนการพัฒนาไปสู่นวัตกรรมทางการแพทย์ เครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษาอย่างสูงสุด
“ศูนย์ศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ถือเป็นเป้าหมายและนโยบายหลักของโรงพยาบาลที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาผู้ป่วยโรคยากและซับซ้อน โดยการทำงานอย่างหนักเพื่อการให้บริการที่ดีของทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญ และผสมผสานกับวิทยาการและเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย เช่น การผ่าตัดผ่านกล้องแบบไร้แผล การดูแลโรคหัวใจ หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยการให้ยา และการจี้ไฟฟ้า การทำกายภาพหัวใจ การฉีดสี เดินสายพานและการผ่าตัดหัวใจ ทั้งโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โดยการทำการผ่าตัดบายพาส การผ่าตัดเปลี่ยนหรือซ่อมลิ้นหัวใจ การผ่าตัดเส้นเลือดแดงโป่งพองทั้งการผ่าตัดและการใส่ขดลวด การผ่าตัดหัวใจพิการแต่กำเนิดในเด็กเบื้องต้น การใช้เครื่องพยุงหัวใจ” นพ.เกรียงไกรกล่าว
ด้านนพ.ภูวดล ฐิติวราภรณ์ หัวหน้าศูนย์ศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ กล่าวว่า โรคหัวใจและปอดเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของคนไทย และพบอัตราการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวสูงขึ้นเรื่อย ๆในแต่ละปี อาทิ เช่น โรคหัวใจขาดเลือดในเขตกรุงเทพมหานครมีถึง 35.6 : ประชากร 100,000 คนทั้งนี้จากสภาพสังคมเมืองที่มีสภาวะการแข่งขันและความเครียดสูง การรับประทานอาหารไม่ถูกตามหลักโภชนาการ การขาดการออกกำลังกายทำให้การป่วยโรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันสูงถึง 108.37 ต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่ทั่วทั้งประเทศ มีอัตราการป่วยเฉลี่ยด้วยโรคเดียวกันต่อจำนวนประชากร 87.8:100,000 คน
ดังนั้นสำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร จึงกำหนดแผนพัฒนาในโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ให้เป็นศูนย์บริการตติยภูมิเฉพาะทางด้านโรคหัวใจและปอด เพื่อสามารถให้บริการแบบครบวงจรและพัฒนาไปสู่ศูนย์เครือข่ายในการรักษาส่งต่อของผู้ป่วย โดยเป็นศูนย์การแพทย์ตติยภูมิแห่งแรกในโรงพยาบาล 11 แห่งในสังกัดกทม. ที่มีความสามารถในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจอย่างครบวงจร ดังนั้นการป้องกันและการวินิจฉัยในระยะเริ่มต้น การรักษาที่รวดเร็วโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การฟื้นฟูสมรรถภาพเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ตลอดจนการพัฒนาไปสู่นวัตกรรมทางการแพทย์ เครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษาอย่างสูงสุด
นพ.ภูวดล กล่าวว่า การจัดงานเสวนาให้ความรู้สู่ประชาชนเรื่อง“เทคโนโลยีในการผ่าตัดหัวใจและทรวงอก” เพื่อเป็นการรณรงค์ด้านการสื่อสารให้รับรู้เรื่องโรค ความรุนแรง การป้องกัน และร่วมมือในการปฏิบัติการลดความเสี่ยงอย่างจริงจัง จะทำให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายมีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและรู้จักทีมงานแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ที่มีความรู้ความสามารถ รู้จักผู้ป่วยที่เคยได้รับการผ่าตัดหัวใจแบบส่องกล้องมาแล้ว ทำให้เกิดความเชื่อมั่นกล้าที่จะรักษาและตัดสินใจและเป็นการเผยแพร่แก่ประชาชนและสังคมต่อไป
No comments:
Post a Comment