“ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก” ผนึกภาคเอกชน ขยายบริการด้านการรักษา เพิ่มการเข้าถึง ครอบคลุมผู้ป่วยทุกกลุ่ม - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Monday 23 November 2020

“ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก” ผนึกภาคเอกชน ขยายบริการด้านการรักษา เพิ่มการเข้าถึง ครอบคลุมผู้ป่วยทุกกลุ่ม


ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก จับมือ เอกชน เปิดศูนย์บริการด้านการรักษาใหม่ ตอบโจทย์    ทุกช่วงอายุ ภายใต้แนวทาง “หนึ่งศรัทธา สู่ล้านการเกื้อกูล” พร้อมวางแผนลงทุนหน่วย      วันเดย์ทรีตเม้นท์ หรือ “คีโมเทอราปี” (Chemotherapy) รักษามะเร็ง ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล สร้างศูนย์อุบัติเหตุ รองรับการเรียนการสอน รับส่งต่อผู้ป่วย คาดแล้วเสร็จภายใน 1 – 2 ปี

วันนี้ (23 พฤศจิกายน) ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผนึกภาคเอกชน แถลงข่าว “หนึ่งศรัทธา สู่ล้านการเกื้อกูล” ขยายบริการด้านการรักษา โดยนำเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัยใช้ในการรักษา เพื่อเพิ่มบริการให้ผู้ป่วย ลดภาระงานโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ลดความแออัด และเพิ่มการเข้าถึง โดยภายในงาน ได้รับเกียรติจากศ.นพ.ประเสริฐ อัสสันตชัย รองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นประธานในพิธี

รศ.นพ.ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก กล่าวว่า ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก สามารถรองรับผู้ป่วยราว 350,000 คนต่อปี ส่วนใหญ่เข้ารับการรักษาด้านกระดูกและเวชศาสตร์ฟื้นฟู ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปเข้ารับการรักษามากขึ้น นำมาซึ่งการเปิดศูนย์บริการทางการแพทย์ใหม่ 9 ศูนย์ อาทิ “ศูนย์ล้างไต” ซึ่งจะเปิดบริการ 48 เตียง รักษาได้ 3 รอบต่อวัน สามารถดูแลคนไข้ได้ประมาณ 120 คนต่อวัน ถือเป็นการเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็วรองรับผู้ป่วยจำนวนมากได้

“ศูนย์ตรวจการนอนหลับ” รองรับได้ 3 เตียงต่อคืน ไม่รวมการตรวจในช่วงกลางวันมากกว่า 10 คนต่อวัน ซึ่งที่ผ่านมา พบว่าตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่ผู้ป่วยต้องรอคิวนานเป็นปี ขณะที่การตรวจรักษาสำหรับโรงพยาบาลเอกชนมีราคาแพง ดังนั้น ศูนย์ดังกล่าวจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ผู้ป่วยสามารถรักษาได้

สำหรับทิศทางในปี 2564-2565 รศ.นพ.ธีระ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทางศูนย์ฯ วางแผนเปิดคลินิกให้บริการด้านสูตินรีเวช เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้ป่วยเด็ก, กลุ่มผู้ป่วยวัยเจริญพันธุ์  และบริการด้านศัลยกรรมทั่วไปให้มากขึ้น  ตอบโจทย์การรักษาแบบครบวงจรทุกช่วงอายุ ตั้งเป้าขยายงานบริการด้านการแพทย์ให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 700,000 คนต่อปี พร้อมเดินหน้าสนับสนุนศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก   ให้เป็นโรงพยาบาลที่ศึกษาของนักศึกษาแพทย์ ทั้งแพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ต่อยอดด้านต่างๆ สำหรับคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอื่นๆ ให้สามารถมาฝึกวิชาได้ในอนาคต”


รวมถึง มีแผนลงทุนในการสร้างหน่วยให้เคมีบำบัด หน่วยวันเดย์ทรีตเม้นท์ หรือ “คีโมเทอราปี” (Chemotherapy)  เนื่องจากพบว่า ผู้ป่วยบางรายไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แต่จำเป็นต้องได้รับยาด้วยทีมพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญ

“การใช้รังสีในการรักษา ปัจจุบันมีการติดตั้งเครื่องฉายรังสีจำนวนไม่มาก ขณะเดียวกัน การวินิจฉัยแล้วพบว่า ผู้ป่วยมีก้อนเนื้อที่สามารถผ่าตัดได้ และหลังผ่าตัดจำเป็นต้องได้รับการฉายแสง หรือ พบว่า มีก้อนเนื้อ แต่ไม่สามารถผ่าตัดได้ จะต้องได้รับการฉายแสงอย่างเร่งด่วน แต่ปัญหาคือ ผู้ป่วยต้องรอคิวฉายแสงรักษามะเร็งเป็นเวลานาน ดังนั้น การสร้างหน่วยวันเดย์ทรีตเม้นท์ จะสามารถตอบสนองการรักษา โดยเฉพาะเตรียมพร้อมรับมือผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งพบว่ามีภาวะเป็นมะเร็งหรือเนื้องอกมากขึ้นในอนาคต” รศ.นพ.ธีระ กล่าว

นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าสร้าง “ศูนย์อุบัติเหตุ” เพื่อรองรับการเรียนการสอนและดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุในพื้นที่ช่วงรอยต่อระหว่าง จ.นครปฐม และ กทม. รวมถึงรับส่งต่อผู้ป่วยจากภาคใต้ตอนบน โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทีมแพทย์ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก กับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในการดูแลปัญหาอุบัติเหตุ รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยไฟไหม้ คาดว่าจะเกิดขึ้นระยะ 1-2 ปีนี้

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages