วช.สนับสนุนกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ “เทคนิคการบินโดรนแปรอักษร” - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Wednesday 23 September 2020

วช.สนับสนุนกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ “เทคนิคการบินโดรนแปรอักษร”

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) จัดงานประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2564 เป็นเวลา 2 วัน ระหว่างวันที่ 21-22 กันยายน 2563 ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมสนับสนุนสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ประดิษฐ์คิดค้น และถ่ายทอดเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ “เทคนิคการบินโดรนแปรอักษร” มีนักเรียนเข้ารับการอบรมเป็นเวลา 3 วันรวม 120 คน จาก 40 โรงเรียน หลังจากนี้ลงใต้อบรมน้อง ๆ นักเรียน เยาวชนและผู้สนใจ 5 จังหวัดชายแดนใต้ที่จังหวัดนราธิวาส

อาจารย์พิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับกล่าวว่า สมาคมเครื่องบินจำลองฯร่วมมือกับทางสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) มาตั้งแต่ปี 2547 จากเครื่องบินโฟม จนถึงเครื่องบินบังคับ มีการอบรมสร้างตั้งแต่โครงสร้าง(body)และรีโมท คอนโทรลมาจนถึงปัจจุบัน และยังมีการสร้างเฮลิคอปเตอร์โดยการต่อยอดจากของเล่นที่มีอยู่ตามท้องตลาด

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งเหล่านี้คือ เป็นการสอนให้เด็กมีการพัฒนาด้านอากาศยาน ทดลองสร้างและบังคับด้วยมือ และได้มีการจัดการแข่งขันขึ้น จนกระทั่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานรางวัล 8 ถ้วยรางวัล ที่สะท้อนแนวคิดว่า การพัฒนาคนตั้งแต่เยาวชน เติบโตมาจะได้เป็นคนที่เก่ง ซึ่งแม้เป็นเด็กบ้านนอกก็มีโอกาสได้ถ้วยพระราชทานไปครอง โดยไม่จำเป็นต้องเป็นนักกีฬาทีมชาติและไม่ได้มีชื่อเสียงอะไร

จากตรงนั้นทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะทุ่มเท ทำสิ่งที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อแผ่นดิน และได้คิดพัฒนาต่อยอดจากเด็ก ๆ ใช้รีโมทควบคุมเครื่องบินขึ้นสู่ท้องฟ้า มาเป็นการเขียนโค้ดหรือโปรแกรมควบคุมเครื่องบินขึ้นโดยที่ไม่ต้องใช้มือบังคับ จนมีการพัฒนามาเป็น "Drone Light Show" หรือ "โดรนแปรอักษร" ในปัจจุบันนี้ ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์ตัวเดียวควบคุมโดรนได้มากถึง 1,000 ลำได้

อาจารย์พิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า ทางสมาคมฯและวช.ไม่ได้หยุดนิ่ง มุ่งสร้างคนเก่งให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ทั่วทุกภาค เพื่อเป็นกำลังสำคัญต่อไปของแผ่นดิน โดยมีการอบรมแก่นักเรียน เยาวชนและผู้ที่สนใจอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีค่าใช้จ่าย มีวช.เป็นผู้สนับสนุนหลักและมีหน่วยงานอื่น ๆ สนับสนุนบ้าง อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งในการสนับสนุนวช.สนับสนุนวัตถุดิบทั้งหมดที่หาได้ภายในประเทศ โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของ ร.9 พร้อมค่าเดินทาง โดยที่ที่ผ่านมามีนักเรียนและผู้ผ่านการอบรมโดรนแปรอักษรแล้วประมาณ 300 คน

สำหรับการอบรมครั้งล่าสุดนี้ มีนักเรียนเข้าอมรมจำนวน 120 คน จาก 40 โรงเรียนตามขนาดของสถานที่ อีกทั้งต้องรักษาระยะห่างตามมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 โดยมุ่งให้นักเรียนแต่ละโรงเรียนสามารถสร้างอุปกรณ์ที่ทันสมัยขึ้นและสร้างขึ้นด้วยฝีมือของตัวเอง โดยมีการอบรมพื้นฐานการเขียนโปรแกรม โปรแกรม Scratch และโปรแกรม Python ในส่วนระดับมหาวิทยาลัย จะสอนภาษา C, C++

ทั้งนี้เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันโดรนในปีหน้า 2564 ซึ่งจะเป็นการแข่งขันปีที่ 11 หลังจากเริ่มมาตั้งแต่ปี 2552 สำหรับในปี 2563 นี้ไม่ได้จัดการแข่งขันเนื่องจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 โดยเกณฑ์การได้รับรางวัลจะพิจารณาจาก การเขียนโปรแกรมให้โดรนสามารถทำภารกิจที่ตั้งไว้ โดยใช้เวลาน้อยที่สุด ผู้นั้นก็จะคว้าชัยชนะไป

วช.สนับสนุนรางวัลเป็นทุนการศึกษาสำหรับรางวัลที่ 1 จำนวน 100,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 50,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 30,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 3 จำนวน 20,000 บาทและรางวัลชมเชย 10,000 บาท

อาจารย์พิศิษฐ์ กล่าวในตอนท้ายว่า หลังจากอบรมที่วช.เสร็จในวันที่ 23 กันยายน 2563 จากนั้น วันที่ 24 กันยายนจะไปจัดอบรม 5 จังหวัดชายแดนใต้รวม 100 โรงเรียน ที่จังหวัดนราธิวาส

"เชิญชวน เยาวชนทุกคน ผู้ที่สนใจ รวมถึงครูบาอาจารย์ ที่อยากเรียนรู้พัฒนาเรื่องเครื่องบิน ให้นึกถึงวช. เป็นหลักเนื่องจากวช.เป็นผู้สนับสนุนการให้ทุน แก่ผู้ที่มีความตั้งใจและมีความสามารถ โดยสามารถส่งจดหมายมาถึงผู้ใหญ่ของวช.หรือ ผู้อำนวยการวช. เพื่อให้โครงการนี้อยู่อย่างถาวร"

No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages