กสศ.เปิดตัว “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” พร้อมโชว์ 13 เด็กช้างเผือก ได้เรียนต่อจนถึงปริญญาเอก - Thailand Times

Breaking

Post Top Ad

Tuesday 23 June 2020

กสศ.เปิดตัว “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” พร้อมโชว์ 13 เด็กช้างเผือก ได้เรียนต่อจนถึงปริญญาเอก

กสศ.เปิดตัว“ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ”ทุนแรกและทุนเดียวของประเทศไทยที่เข้าไปเติมฝันให้กับนักศึกษาสายอาชีพที่ยากจนขาดโอกาสแต่มีศักยภาพ พร้อมโชว์ 13 เด็กช้างเผือก ได้เรียนต่อจนถึงปริญญาเอก จากรุ่นที่ 1 หลังพบกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของเด็กกลุ่มนี้ต้องการเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ 
และนักศึกษาเหล่านี้คือ ‘บุคคลต้นแบบ’ (Role Model) ของนักศึกษาสายอาชีวะในอนาคตที่จะได้เดินตามฝันเรียนต่อระดับอุดมศึกษา

วันที่ 23 มิถุนายน2563 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) แถลงข่าวเปิดโครงการ “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ ปี2563” ซึ่งเป็นทุนแรกของประเทศไทยที่เติมเต็ม โอกาสให้แก่เด็กช้างเผือกสายอาชีพ (นักศึกษาที่มีศักยภาพแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ที่จบ ปวช. หรือ ปวส. ปี 2562 และกำลังเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในสาขา S-Curve, New S-Curve, STEM และเทคโนโลยีดิจิทัล) 
ศ.ดร.นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพกล่าวว่า ปัญหาเด็กด้อยโอกาสขาดแคลนทุนทรัพย์ ไม่มีโอกาสที่จะศึกษาต่อในสายอาชีพระดับสูง จัดเป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ต้องแก้ไขเนื่องจากประเทศไทยมีเด็กด้อยโอกาสที่จัดอยู่ในกลุ่ม 25 เปอร์เซ็นต์ล่างสุด แต่มีความรู้ความสามารถและมีคะแนนสอบ PISA ได้เท่ากับเด็กที่เรียนดีในกลุ่ม 25 เปอร์เซ็นต์สูงสุดประมาณ 3.3 เปอร์เซ็นต์ของเด็กกลุ่มยากจนหรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 6,111 คน

“องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ทำการสำรวจเด็กช้างเผือกกลุ่มนี้ พบว่าเด็กด้อยโอกาสกว่าร้อยละ 80 คาดหวังอยากจะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ดังนั้นหากเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้รับทุนการศึกษาก็มีแนวโน้มที่จะหลุดออกนอกระบบ ประเทศไทยจะสูญเสียทรัพยากรที่มีความสามารถไปอย่างน่าเสียดาย 

อย่างไรก็ตามแม้ที่ผ่านมาประเทศไทยจะให้ทุนกับเด็กด้อยโอกาสจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นไปที่เด็กสายสามัญ กสศ. มองเห็นความสำคัญของปัญหาและอยากที่จะส่งเสริมให้เด็กด้อยโอกาสแต่มีศักยภาพทางสายอาชีพได้รับโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้นและเพื่อให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่อยากจะส่งเสริมการศึกษาสายอาชีพ กสศ. จึงได้ริเริ่มโครงการมอบทุนการศึกษาให้กับเด็กอาชีวะได้เรียนต่อในระดับปริญญาตรีขึ้นไป โดยชื่อทุนได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีชื่อว่า “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ ปี2563”
นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กสศ. เป็นกองทุนของรัฐมีภารกิจหลักด้านการสร้างความเสมอภาคและส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาให้เด็กด้อยโอกาส ซึ่งทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ เป็นทุนแรกของรัฐบาลไทยที่ส่งเสริมให้คนจบสายอาชีพ ได้เรียนต่อระดับปริญญาตรีขึ้นไป ซึ่งกระบวนการพิจารณาความยากจน ของ กสศ. จะพิจารณาจากรายได้ ภาระพึ่งพิง ที่อยู่อาศัย สภาพที่อยู่อาศัย ที่ดินการเกษตร ไฟฟ้า ยานพาหนะ รวมทั้งจะต้องมาพิจารณา ความสามารถ เกียรติประวัติ ผลงานการทำโครงงาน สิ่งประดิษฐ์ รวมทั้งจะต้องมีความประพฤติดี  
“ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพจะสนับสนุนกำลังคนสายอาชีพที่มีศักยภาพให้ศึกษาต่อปริญญาตรี โท เอก ในสาขาที่ตอบโจทย์ประเทศ ทั้ง S-Curve New S-Curve STEM  และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ถึงแม้ว่าจะมีจำนวนทุนไม่มากราว 40 ทุน ต่อปี  แต่กสศ. มุ่งสร้างและพัฒนาให้เป็นต้นแบบการเรียนสายอาชีพ ให้เห็นว่ามีเส้นทางความก้าวหน้าได้จริง สร้างกลุ่มเยาวชนยากจนด้อยโอกาสที่มีศักยภาพให้เป็นบุคลากรชั้นนำได้ นักศึกษาสายอาชีพคือกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่ กสศ. ต้องการให้มีทางเลือกทางการศึกษามากขึ้น โดยเฉพาะน้อง ๆ ที่แม้จะต้องผ่านความยากลำบากในชีวิต ขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่ถ้ามีศักยภาพ ความตั้งใจ กสศ. พร้อมส่งเสริมให้เขาได้ก้าวไปไกลที่สุดเท่าที่ใจฝัน 
อย่างไรก็ตาม กสศ.ต้องการให้นักศึกษาทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ เป็นเสมือน ‘บุคคลต้นแบบ’(Role Model) ของนักศึกษาสายอาชีวะ เนื่องจากยังมีน้อง ๆ อีกจำนวนมากที่เรียนอยู่ในระดับ ปวช.-ปวส. โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. ที่มีจำนวนประมาณ 5,000 คน ใน 2 รุ่น ที่มีความฝันอยากเรียนต่อแต่ขาดทุนทรัพย์ เมื่อพวกเขามองขึ้นมาจะได้เห็นว่าโอกาสทางการศึกษานั้นมีอยู่ และเห็นว่ามีรุ่นพี่ที่ทำให้ดูแล้วว่าฝันนั้นเป็นจริงได้ เป็นการส่งต่อแรงบันดาลใจ แรงจูงใจ ให้มีรุ่นน้องได้เดินตามรุ่นพี่ ซึ่งเราคิดว่าจะได้เห็นภาพของการแนะแนวกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องอย่างใกล้ชิด” นายสุภกร กล่าว
นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า ตามวัตถุประสงค์ของทุนมุ่งพัฒนาผู้เชี่ยวชาญที่มีพื้นฐานมาจากสายอาชีวศึกษา เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ผ่านการให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาสายอาชีพ (ปวช.- ปวส.)ที่มีผลการเรียนดีและยากจนที่สุดหรือด้อยโอกาส โดยตั้งเป้าว่าจะมีการให้ทุนการศึกษาปีละ 40 ทุน ทุนละ 300,000 บาท ต่อคนต่อปี ซึ่งเป็นการรวมทั้งค่าเล่าเรียน อุปกรณ์การเรียน ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การทำโครงงาน/วิจัย และการสนับสนุนที่ทักษะสำคัญและเสริมประสบการณ์ (Enrichment) แต่ในรุ่นที่ 1 มีนักศึกษาผ่านคัดเลือก 13 คนแม้จะมีนักศึกษาชื่อกว่า 70 คน นั่นเพราะต้องผ่านการทดสอบหลายด้าน โดยเฉพาะความมุ่งมั่นตั้งใจ รวมถึงความสามารถการทำโครงงานต่าง ๆ ด้วยต้องการคนที่เป็น ‘ช้างเผือก’ จริง ๆ และนี่คือจุดมุ่งหมายของทุนนี้
“จากข้อมูล ทาง กสศ.พบว่า นักเรียนที่มีฐานะยากจนที่สุดหรือด้อยโอกาส จะมีเพียง 5% เท่านั้นที่มีโอกาสศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ต่างจากคนชั้นกลางที่มีโอกาสศึกษาต่อถึง100% ซึ่งทาง กสศ.เห็นช่องว่างดังกล่าว จึงหาทางที่จะส่งเสริมทางการศึกษาให้กับเด็กที่เรียนจบระดับชั้น ปวช.-ปวส.ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี และหากเด็กมีศักยภาพจะมีทุนให้ถึงระดับปริญญาโทและเอก เมื่อเด็กเหล่านี้จบการศึกษาจะเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาประเทศต่อไป” นางสาวธันว์ธิดา กล่าว
นางสาวธันว์ธิดา กล่าวว่า ในปี 2563 นี้ กสศ. สนับสนุนทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพได้จำนวน 67 ทุน โดยคุณสมบัติของนักศึกษาที่จะเสนอชื่อเข้ารับทุนนั้น จะต้องเป็นนักศึกษาที่จบ ปวช. หรือ ปวส. ในปี 2562 และกำลังจะเข้าศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรต่อเนื่องหรือเทียบโอน เป็นผู้ที่มีรายได้ครอบครัวเฉลี่ยไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน มีผลการเรียนเฉลี่ยตั้งแต่ 3.00 ขึ้นไป และอยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ 20 บนของสาขาที่จบการศึกษา และมีผลงานที่โดดเด่น มีโครงงานหรือสิ่งประดิษฐ์จะได้รับการพิจารณาพิเศษ นอกจากนี้จะต้องมีคุณลักษณะมีภาวะผู้นำ มีจิตอาสา ขอเชิญชวนสถานศึกษาอาชีวศึกษาเสนอชื่อนักศึกษาศิษย์เก่า สถานศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาตรีเสนอชื่อนักศึกษา เพื่อรับทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ และในปีนี้เป็นปีแรกที่นักศึกษาตามคุณสมบัติยังสามารถสมัครขอรับทุนได้ด้วยตนเองด้วย โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ผ่านเว็บไซต์ https://www.eef.or.th/ หรือโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 02-079-5475 กด 4 ตามวันเวลาราชการ
ขณะที่ นางสาวภัทรียา แซ่คำ น้องป้าง อายุ 22 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า-โทรคมนาคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา นักศึกษา “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” รุ่นที่ 1 กล่าวว่า แรงบันดาลที่ทำให้เลือกเรียนสาขาสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า-โทรคมนาคม เพราะอยากเป็นวิศวกรที่สามารถช่วยไร่ผลิตไฟฟ้าและมีบทบาทในการพัฒนาประเทศ ที่สำคัญเมื่อเรียนจบวิชาชีพนี้สามารถยกระดับชีวิตและรายได้ให้ดีขึ้น สามารถนำเงินส่งต่อการศึกษาให้น้องได้ แต่เนื่องจากฐานะทางบ้านยากจน จึงต้องผลักดันตัวเองด้วยการหางานพิเศษทำเพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัวตั้งแต่ชั้น ม. 2 เมื่อ กสศ.เปิดรับสมัครนักเรียนเข้าร่วมโครงการ “พระกนิษฐาสัมมาชีพ” ซึ่งเป็นทุนการศึกษาที่ส่งเสริมให้ผู้ที่เรียนในสายอาชีพได้มีโอกาสเรียนต่อในสายอาชีพชั้นสูง อาจารย์ที่ปรึกษาจึงส่งรายชื่อของตนเข้าชิงทุน เพราะอยู่ในเกณฑ์รับสมัครคือ เป็นนักเรียนที่เรียนดีและมีฐานะยากจน หลังจากทราบผลว่าได้รับทุนรู้สึกดีใจมาก เพราะทุนดังกล่าวสานฝันให้เรียนจนจบในระดับที่เราอยากเรียนได้ โดยดังนั้นจึงอยากฝากถึงน้องๆที่อยากได้รับโอกาสเช่นนี้ อย่าให้ความจนมาปิดกั้นอนาคตทางการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นประตูแรกที่จะทำไปสู่ความสำเร็จ


No comments:

Post a Comment

Post Bottom Ad


Pages