ไรเดอร์คุณภาพชีวิตดิ่งสารพัดโรครุมเร้า หน้าร้อนเสี่ยงฮีทสโตรก ทำงานหนักขาดการคุ้มครองดูแล เศร้าต้องรวมกลุ่มช่วยเหลือกันเองตามอัตภาพ ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ชงออกกฎหมายให้แพลตฟอร์ม ยอมรับสถานะลูกจ้างได้รับการคุ้มครอง เข้าถึงสิทธิ สวัสดิการช่วยเหลือ รักษา
เมื่อเร็วๆนี้ ที่ห้องประชุม แมนดาริน B โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพ มีการจัดเสวนาหัวข้อ “ไรเดอร์ รวมกันเราอยู่ ร่วมกันเราเข้มแข็ง” ภายใต้โครงการวิจัย รูปแบบการสร้างอำานาจต่อรองเพื่อสุขภาวะของแรงงานแพลตฟอร์มส่งอาหารและแรงงานในกิจการขนส่ง สนับสนุนโดย สสส. โดยมีตัวแทนไรเดอร์กว่า 70 คนเข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย กลุ่มไรเดอร์ย่านฝั่งธนฯ ไรเดอร์ย่านนวมินทร์ ไรเดอร์ย่านบางจาก กรุงเทพฯ พร้อมกับจากจังหวัดต่างๆ อาทิ กลุ่มไรเดอร์สระบุรี กลุ่มไรเดอร์บ่อวิน ชลบุรี เป็นต้น โดยตัวแทนไรเดอร์ได้กล่าวถึงสภาพปัญหาที่ไรดอร์ประสบ นับตั้งแต่ ค่ารอบที่ลดลงเรื่อยๆ ปัญหาสุขภาพความปลอดภัยและอุบัติเหตุที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลและแพลตฟอร์มยังขาดการคุ้มครองและช่วยเหลืออย่างเป็นมาตรฐาน จึงทำให้พวกเขาและเธอต้องรวมกลุ่มช่วยเหลือกันเอง
ประภาพร ผลอินทร์ ตัวแทนไรเดอร์ฝั่งธน กล่าวว่า จากการทำงานด้านสุขภาพของไรเดอร์ในโครงการ Heathy Rider พบว่า เนื่องจากไรเดอร์ทำงานหนัก ค่าครองชีพสูงขึ้น ค่าแรงน้อยลง แต่ละคนต้องทำงานมากขึ้นในชั่วโมงการทำงานที่นานขึ้นบนท้องถนน โรคที่พบมากคือ โรคระบบทางเดินหายใจ เพราะต้องอยู่กับฝุ่นควัน ฝุ่น pm 2.5 ตลอดทั้งวัน ยิ่งทำงานมาหลายๆ ปี ก็พบโรคอื่นๆ เช่นเดียวกับคนทำงานออฟฟิส แต่เกิดขึ้นเร็วกว่า เพราะออฟฟิสพวกเราคือท้องถนน นอกจากปวดเมื่อ คอ บ่า ไหล่ ก็ยังพบโรคอื่นๆ เส้นเลือดสมองตีบ เราพบ ไรเดอร์เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต และรวมถึงเมื่อการขาดเวลาพักผ่อนออกกำลังกาย โรค NCD เช่น ไขมันพอกตับ ความดัน ฯลฯ ก็ตามมา ล่าสุดเราพบกรณีที่ไรเดอร์เป็นฮีทสโตรค กันหลายคน เพราะทำงานในอากาศที่ร้อนจัด
“การรรวมกลุ่มไรเดอร์ด้วยเรื่องใกล้ตัวคือสุขภาพเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับการจัดตั้งและรวมกลุ่ม จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ไรเดอร์ในทุกพื้นที่สนใจในเรื่องสุขภาพกันมาก” ประภาพร กล่าว
ด้านประเด็นอุบัติเหตุที่ไรเดอร์ประสบปัญหากันมาก ตัวแทนไรเดอร์สระบุรี เกศกานดา จิตรีมิตรกล่าวว่า กองทุนอุบัติเหตุไรเดอร์ เป็นสิ่งที่ไรเดอร์สนใจเข้ามารวมกลุ่มกัน สมาชิกของเราพบอุบัติเหตุกันบ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ พวกเราจึงระดมทุนกันช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกโดยตั้งเป็นกองทุน “เพื่อนช่วยเพื่อน” เก็บค่าสมาชิกคนละ 50 บาท เมื่อเกิดเหตุอุบัติเหตุ จะนำไปช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกที่ยากลำบาก ขาดรายได้ ที่ต้องหยุดงานไป บางคนก็หยุดงานครึ่งเดือนบางคนก็ หลายดือน แม้จะเป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่ก็เป็นน้ำใจของเพื่อนพี่น้องร่วมอาชีพไรเดอร์สระบรี
“กองทุนเพื่อนช่วยเพื่อนเรื่องอุบัติเหตุ ช่วยให้การรวมกลุ่มขยายสมาชิกได้มากขึ้น ล่าสุดเรามีสมาชิกราว 120 คน ซึ่งไรเดอร์ยินดีจะจ่ายค่าสมาชิกเพื่อช่วยหลือไรเดอร์ด้วยกัน ก็เช่นเดียวกัน กลุ่มไรเดอร์ย่านนวมินทร์ กรุงเทพฯ ก็ได้จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือไรเดอร์ในเรื่องอุบัติเหตุในลักษณะเดียวกัน” เกศกานดากล่าว
ตัวแทนไรเดอร์ย่านนวมินทร์ มรรยาท งัดขุนทด กล่าวว่า กองทุนอุบัติเหตุกลุ่มนวมินทร์เก็บค่าสมาชิกเดือนละ 100 บาท เมื่อประสบอุบัติเหตุกองทุนจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเมื่อขาดรายได้วันละ 300 บาท แต่ก็จำกัดไว้ไม่เกิน 4 วันเพราะป็นกลุ่มเล็กๆ แม้จะมีสมาชิกไม่มากราว 20 คนแต่เป็นจุดเริ่มต้นการรวมกลุ่มช่วยเหลือกันเองของไรเดอร์ ที่ขาดหายไปซึ่งมาตรฐานการคุ้มครองของกฎหมายแรงงาน
“กลุ่มเราเป็นคนหาเช้ากินค่ำ มีแต่เสาหลักของครอบครัว พอประสบอุบัติเหตุก็ไม่มีรายได้เข้ากระเป๋าเลย ก็มาเริ่มคิดกันว่า เราทำกองทุนช่วยเพื่อน เมื่อเพื่อนประสบอุบัติเหตุ เขาไม่ได้ทำงาน ก็พอได้ค่ากับข้าวค่าอะไรบ้าง” มรรยาท กล่าว
ด้านจะเด็จ เชาวนวิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มองภาพรวมการรวมกลุ่มไรเดอร์ว่า ภายใต้ความเหลื่อมล้ำและวิกฤตเศรษฐกิจ คนงานจำนวนมากต้องหันมาทำงานแพลตฟอร์ม เช่น ไรเดอร์ ซึ่งถูกเอาเปรียบทั้งค่าแรงและสวัสดิการ การรวมกลุ่มจึงเกิดขึ้นอย่างเป็นวิถีชีวิต ตั้งแต่พบปะ ช่วยเหลือ ไปจนถึงสร้างสายสัมพันธ์ในชีวิตประจำวัน การรวมกลุ่มของไรเดอร์มีความหลากหลาย ทั้งตามพื้นที่ทำงาน ย่านที่อยู่อาศัย หน้าร้านอาหาร หน้าห้างสรรพสินค้า รวมถึงการรวมกลุ่มเฉพาะเรื่อง เช่น กลุ่มไรเดอร์ผู้หญิงที่เผชิญปัญหา เช่น การทำงานขับมอเตอร์ไซค์ยาวนานขณะมีประจำเดือน ซึ่งเป็นปัญหาร่วมกันของคนงานทั้งหมด รวมถึงการคุกคามทางเพศ ความหลากหลายนี้ทำให้การรวมกลุ่มขยายตัวอย่างกว้างขวางโดยไม่มีกรอบจำกัด
“การรวมกลุ่มของไรเดอร์ยังตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสมานฉันท์ ช่วยเหลือกันในยามเกิดอุบัติเหตุ ปัญหาครอบครัว หรือความเสี่ยงในการทำงาน พวกเขาสร้างวัฒนธรรมการดูแลกันเองอย่างแน่นแฟ้น แม้ไม่มีสวัสดิการจากนายจ้าง จากการช่วยเหลือกันในชีวิตประจำวัน ไรเดอร์หลายกลุ่มได้ยกระดับไปสู่การรวมตัวต่อรองกับแพลตฟอร์ม เรียกร้องสิทธิที่พึงมี ทั้งเรื่องค่าแรง สวัสดิการ และการได้รับการยอมรับในฐานะคนงาน” จะเด็จกล่าว
จะเด็จ สรุปว่า จากการถูกเอาเปรียบ ไรเดอร์มีวิธีการต่อสู้แต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ความหลากหลายรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนที่ใหญ่ขึ้นที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรม จะทำให้รัฐบาลหรือผู้ออกกฎหมายจะต้องออกกฎหมายมาเพื่อให้ระบบแพลตฟอร์มยอมรับว่าไรเดอร์เป็นคนงาน เป็นลูกจ้าง ซึ่งเป็นประเด็นร่วม พร้อมกันกับการคุ้มครองจากกฎหมายประกันสังคมมาตรา 33 เป็นต้น
“กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่ปี 2518 รับรองการตั้งสหภาพแบบเดิมๆ มันล้าสมัยแล้ว จริงๆ แล้ว การรวมกลุ่มของไรเดอร์จะต้องได้รับการรองรับในกฎหมายอีกแบบหนึ่งแล้ว การรวมกลุ่มควรจะถูกรองรับให้เห็นความหลากหลาย ให้เห็นว่า สหภาพแรงงานควรเป็นการรวมกลุ่มที่มีความหลากหลาย และการรวมกลุ่มของไรเดอร์ก็จะเป็นจุดเปลี่ยนของขบวนการแรงงานไทยในอนาคต ที่ไม่อยู่เพียงในรั้วโรงงาน”จะเด็จ กล่าวทิ้งท้าย
No comments:
Post a Comment